ไลฟ์สไตล์สาย GREEN

ไลฟ์สไตล์สาย GREEN

ลดการสร้างขยะ ละสิ่งที่เกินจำเป็น เลิกพฤติกรรมทิ้งขว้างมักง่าย คู่มือสายกรีนที่เริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง

“จะแยกขยะให้ยุ่งยากไปทำไม ในเมื่อพอทิ้งรถขยะที่มาเก็บเขาก็เทรวมกันอยู่ดี”

“ทำไมชีวิตจะต้องยุ่งยากกับการพกแก้วน้ำส่วนตัวหรือกล่องข้าวและช้อน-ส้อม”

“จริงๆ ก็พกถุงผ้าไปซื้อของ แต่บางครั้งก็มีลืมบ้าง ก็เราใช้ถุงพลาสติกมาทั้งชีวิตจะให้เปลี่ยนทันทีก็คงยาก”

คำถามมากมายที่หลายคนมีอยู่ในใจต่างถูกระบายจนหมดใน Book Talk เล็กๆ กับหัวข้อ Zero Waste บ้านเราไม่มีขยะ

ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นกระทั่งนอนหลับ เคยสังเกตกันไหมว่า เราสร้างขยะกันไปเท่าไหร่ในแต่ละวัน และเหตุผลของคนจะทิ้ง(ขยะ) โดยไม่คัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ต่างผลักภาระในการจัดการขยะไปที่ปลายทาง รวมถึงวิธีการจัดการกับขยะอย่างคนกรีนๆ จะสร้างแรงกระเพื่อมในการลดปริมาณขยะได้อย่างไร

จากเหตุการณ์ของเต่าตนุเมื่อปี 2561 ที่ต้องสังเวยชีวิตเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไปด้วยความไม่รู้ว่า นั้นคือสิ่งแปลกปลอมที่กินไม่ได้ และพบขยะพลาสติกจำนวนมากในกระเพาะอาหารของมัน ไม่กี่เดือนต่อมาปัญหานี้ยิ่งถูกตอกย้ำด้วยเต่าตัวที่สองถูกหลอดพลาสติกอุดรูจมูก จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าปริมาณขยะมูลฝอยในปัจจุบันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรสัตว์

ชนินทร์ ศรีสุมะ หรือน้ำมนต์ วิศวกรหนุ่มที่ทำงานในโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานทดแทน และยังเป็นหนึ่งในเจ้าของร้าน Refill Station ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กที่มีกฎในการซื้อขายโดยการนำบรรจุภัณฑ์มาเติม เพื่อให้คนลดขยะในชีวิตประจำวัน และด้วยความชอบเที่ยวธรรมชาติเป็นทุนเดิมบวกกับความงกของตัวเอง การเที่ยวของเขาจึงเป็นรูปแบบจิตอาสา ทำให้ได้เห็นความงดงามของธรรมชาติในมุมที่นอกเหนือจากการเป็นสถานที่เช็คอินถ่ายภาพ เขาได้เรียนรู้การใช้ชีวิตกับธรรมชาติ ระบบนิเวศในชุมชน จึงทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกันและส่งผลกระทบถึงกันได้

“เวลาเราไปเที่ยวก็มักจะโพสต์รูปลงโซเชียลในมุมสวยๆ ซึ่งหากเราแพนกล้องไปอีกนิดเราอาจจะเจอกับสิ่งที่มันไม่สวยงามก็ได้ แต่นั่นมันคือความจริง การไปเที่ยวโดยที่ไม่แคร์สิ่งแวดล้อม มันกำลังทำลายสิ่งที่เรากำลังชื่นชมความสวยงามอยู่ แล้วเราจะท่องเที่ยวโดยมีจิตสำนึกกันได้หรือเปล่า” นี่คือจุดเริ่มต้นให้วิศกรกรหนุ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเริ่มจากตัวเอง

กฎเหล็กง่ายๆ ของน้ำมนต์ เริ่มจากการฝึกแยกขยะให้เป็นนิสัยภายในบ้านก่อน ขยะที่เป็นเศษอาหารก็อีกถังหนึ่ง ขยะอื่นๆ ใส่ในถังขยะใบเดียวกันแต่ใช้กระดาษลังแบ่งเป็นช่องๆ เพื่อแยกขยะ แล้วจะได้เห็นว่าในแต่ละวันเราใช้ขยะกันกี่ชิ้น ในวันธรรมดาที่ต้องออกไปทำงานลองไม่ทิ้งขยะนอกบ้าน เก็บทุกอย่างที่เป็นขยะของเรากลับมาที่บ้าน แล้วลองดูว่ามันจะมากแค่ไหน ซึ่งไม่ต่ำกว่า 10 ชิ้นแน่

greg-and-laurie-duncan-global-impact

น้ำมนต์ถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็กเรื่องการแยกขยะ แม้จะไม่ใช่เพื่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่นั้นก็ทำให้เขารู้จักการแยกขยะตั้งแต่เด็กๆ เขาเล่าว่า ทุกปิดเทอมเขาจะต้องช่วยที่บ้านคัดแยกขยะที่สามารถขายได้เป็นประจำ ขยะจำพวกขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง กระดาษลัง ขยะที่ดูไม่มีค่าเหล่านี้แท้จริงแล้วก็คือขุมสมบัติที่ตีราคาเป็นเงินได้

“จริงๆ ที่มาทำร้านรีฟิลส่วนหนึ่งก็เพราะเราอึดอัด รัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ แต่แน่นอนว่าการเริ่มที่ตัวบุคคลมันช้า ผมก็เลยมาทำร้านเพื่อจะขยายการสื่อสารให้คนรู้มากขึ้น พลังผู้บริโภคเองก็เป็นทางหนึ่งที่จะขับเคลื่อน ยกตัวอย่างในต่างประเทศที่มีการกำหนดว่าไม่ใช้ถุงพลาสติก ไม่ว่าจะตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านต่างๆ ไม่ใช้ถุงผ้าก็ต้องซื้อถุงกระดาษ สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่นั้นคือเขาสามารถปรับตัวได้ 

ผมมองว่าการขับเคลื่อนปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่มีวิธีการเดียวที่จะแก้ได้หมดทุกอย่าง ภาครัฐต้องทำงานแน่นอน ในขณะเดียวกันคนตัวเล็กอย่างเราก็จะไม่รอภาครัฐ เราต้องสร้างพลังขับเคลื่อน เพื่อให้รัฐสนับสนุนสิ่งที่เราพยายามทำ ซึ่งตอนนี้ผมขยับจากการเป็นผู้บริโภคมาเป็นผู้ประกอบการ สามารถทำอะไรได้มากขึ้น เป็นอีกวิธีหนึ่งในการสร้างความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน” วิศวกรหนุ่ม กล่าว

ปัญหาใหญ่ของขยะคือ พลาสติก จากสถิติคนไทยทั้งประเทศผลิตขยะเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยเป็นปริมาณขยะ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน รวมทั้งประเทศเท่ากับ 74,073 ตันต่อวันหรือ 27.04 ล้านตันต่อปี ถ้าลองแยกออกเป็นประเภทจะพบว่าขวดพลาสติกใช้กันมากถึง 4,000 ล้านใบต่อปี แก้วกาแฟ 466 ล้านใบและโฟมปีละ 22 ล้านใบ ในขณะที่มีขยะที่ถูกนำกลับไปใช้ใหม่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ ทำให้มีปริมาณขยะมูลลฝอยตกค้างเพิ่มสูงขึ้นถึง 19.9 ล้านตัน ต้องใช้งบประมาณจัดการขยะมากถึง 13,000 ล้านบาทต่อปี

หากมองภาพให้ใหญ่ขึ้น จะเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่เพิ่มปริมาณขยะอย่างมหาศาล ประเทศไทยทิ้งขยะลงทะเลติดอันดับ 6 ของโลก และ 73 เปอร์เซ็นต์ในท้องของปลาทะเล พบชิ้นส่วนไมโครพลาสติก ซึ่งปลาเหล่านั้นถูกจับกลับมาเป็นอาหารของมนุษย์ สุดท้ายเราในฐานะผู้บริโภคก็บริโภคขยะที่เราสร้าง เราใช้ และเราทิ้งเสียเอง

อีกหนึ่งคนที่ใช้ชีวิตอย่างคำนึงถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จักรกริช พวงแก้ว  อดีตผู้ร่วมงานมูลนิธิโลกสีเขียว ผู้ชายที่หลงใหลธรรมชาติและมีโอกาสได้เข้าป่าอยู่บ่อยครั้ง เขาอยากเห็นภาพความสวยงามของธรรมชาติเช่นนั้นนานๆ จึงคิดว่านอกจากการจัดการขยะภายในบ้านด้วยวิธีแยกขยะ ซึ่งเป็นการสร้างกิจกรรมในครอบครัว อีกหนึ่งกฎเหล็กของสายกรีนก็คือ จะบริโภคอย่างไรให้สร้างขยะน้อยที่สุด

highres_001_1004-1199x800

ในหนึ่งวันตั้งแต่ตื่นนอน เขาเล่าว่ามีขยะที่ต้องทิ้งทุกวันแม้จะพยายามลดการบริโภคแล้วก็ตาม ในเช้าวันหนึ่งยาสีฟันหมดหลอดพอดี ยาสีฟันหลอดนั้นก็กลายเป็นขยะ ถ้าขึ้นรถเมล์ตั๋วรถเมล์ก็เป็นเศษกระดาษที่ได้มาไม่ถึงวินาทีก็เป็นขยะ ดื่มกาแฟที่ทำงานไม่ว่าจะซองกาแฟหรือซองน้ำตาลก็เป็นขยะ ยิ่งในออฟฟิศ ขยะจากกระดาษที่เหลือใช้มีจำนวนมากพอๆ กับปริมาณถุงพลาสติกที่ถูกทิ้ง

“การจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนที่เขาทำแบบนั้นมาจนเคยชินแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่าย ผมจึงเลือกวิธีการง่ายๆ คือ การทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างว่า เราทำแล้วมันดีอย่างไร ทุกครั้งที่ออกไปข้างนอกผมจะเตรียมอุปกรณ์เล็กๆ น้อย อย่างกล่องข้าว ช้อน-ส้อม แก้วน้ำส่วนตัว และถุงผ้า ซึ่งของพวกนี้จะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกในแต่ละวันของเราได้พอสมควร” จักรกริช เล่าถึงวิธีการลดขยะในชีวิตประจำวัน

และตอนนี้ดูเหมือนว่าเทรนด์รักษ์โลกจะค่อยๆ ดีขึ้น ภาคเอกชนหลายแห่งเริ่มมีความเคลื่อนไหว แม้จะไม่ใช่แคมเปญที่ต่อเนื่องก็ตาม แต่ก็เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกคนและสร้างความเคยชินได้ อย่างแคมเปญเซเว่นที่มีการงดรับถุงพลาสติกและสามารถสะสมแต้มแลกเป็นสิทธิพิเศษต่างๆ ในการใช้ซื้อสินค้าของเซเว่นเอง

แต่ Zero Waste ไม่ใช่แค่การลดขยะพลาสติก อีกส่วนที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนก็คือ ขยะที่เกิดจากเศษอาหาร การพยายามบริโภคอาหารไม่ให้เหลือทิ้งหรือลดการบริโภคเป็นการมองในมุมของผู้บริโภค หากมองเป็นภาพของวงจรการผลิตอาหาร อย่างที่สารคดีของต่างประเทศพยายามนำเสนอ จะเห็นว่า ขยะจากเศษอาหารไม่ใช่แค่ว่าเราจะต้องพยายามกินให้หมด หรือว่าไม่ซื้ออาหารเก็บไว้ในบ้านเยอะจนมันเน่าเสียเป็นขยะ แต่เป็นเรื่องที่มาตั้งแต่กระบวนการผลิต เริ่มตั้งแต่ในฟาร์มของเกษตรกรและไม่ว่าจะพืชหรือสัตว์ที่มาจากฟาร์มเหล่านั้น ก็ไม่ใช่ทุกอย่างจะเข้าสู่กระบวนการผลิตอย่างสมบูรณ์ พืชบางชนิดไม่ผ่านเกณฑ์ของโรงงานและจะถูกคัดออก 

ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือในขั้นตอนของการจำหน่าย ซุปเปอร์มาร์เก็ตจะมีมาตราฐานในการคัดเลือกสินค้ามาจำหน่าย ซึ่งบางครั้งมาตราฐานอาจสูงไป เช่น กล้วยหอมที่มีรูปร่างไม่ได้มาตราฐานแต่ให้คุณค่าเทียบเท่ากับกล้วยที่สวยงามได้มาตราฐาน ทำให้มีอาหารจำนวนไม่น้อยถูกคัดออกเพื่อมาขายในตลาดที่ราคาถูกกว่า หรือไม่ก็ทิ้งเป็นขยะ

ท้ายที่สุดก็ย้อนกลับมาที่ผู้บริโภคอยู่ดี เพราะในการทำธุรกิจก็ต้องมีการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายและวิเคราะห์การบริโภคของคน ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าใครๆ ก็ชอบกินของที่รูปร่างหน้าตาสวยงามอยู่ดี เพราะฉะนั้นนอกจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่สร้างขยะแล้ว ควรจะต้องปรับเปลี่ยนท้ศนตติิของคนในสังคมควบคู่ไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้ใครคนใดคนหนึ่งหรือแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งคงยากที่จะทำได้สำเร็จ

พลังกลุ่มจะเป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่บ้านเราปลอดขยะได้ อาจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยสัก 50 เปอร์เซ็นต์ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

02-zero-waste-plastic

Zero Waste หยุดผลิตขยะ!

ในมุมของผู้ประกอบการ วิวัฒน์ หิรัญพฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นแบบยั่งยืน แลกเปลี่ยนมุมมองว่า ความหมายของ Zero Waste ก็คือ ขยะเป็นศูนย์ อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่าปัจจุบันขยะในบ้านเราเยอะมาก และหลายคนก็บอกว่ามารีไซเคิลกัน แต่ปลายทางของการทำให้ขยะเป็นศูนย์ คือต้องไม่สร้างขยะตั้งแต่ต้น ซึ่ง zero waste มีหลายมุม ถ้าพูดถึงมุมการผลิต เราควรให้ความสนใจกับการผลิตของที่ใช้ได้นาน ที่จะไม่กลายเป็นขยะเพียงไม่กี่นาทีหลังการใช้งาน อีกแง่ของผู้บริโภค ซึ่งต้องปลูกจิตสำนึกก่อน อาจจะไม่ต้องถึงกับเก็บขยะรอบเมือง แต่ทุกคนต้องรับผิดชอบขยะของตัวเองให้ได้

“คุณรู้ไหมว่าขวดน้ำพลาสติกทั่วโลกผลิตนาทีละ 1 ล้านขวด คำถามคือเมื่อกลายเป็นขยะแล้วไปที่ไหน ลงทะเลหรือพื้นดิน ซึ่งพลาสติกบางขวดต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 400 ปี พลาสติก 1 ขวด หรือหลอด 1 หลอด อายุยืนกว่าชีวิตคน พลาสติกที่เราทิ้งในวันนี้รุ่นลูกรุ่นหลานจะสามารถขุดเจอในอีกสามชั่วคน ถ้าเราไม่หยุดภาคการผลิต แล้วเราก็อยู่ในภาคของผู้บริโภค ใช้ให้น้อย ถามว่ามันน้อยแค่ไหนถึงจะพอ และพลาสติกยังเป็นส่วนประกอบของด้ายไนลอนที่ใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้าหรือเส้นใยต่างๆ ตัวนี้เป็นขยะที่เยอะที่สุด มี 60 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นฟาสแฟชั่นหรือขยะเสื้อผ้าที่อยู่ในตู้เสื้อผ้าของเรานั่นเอง”

และอีกหนึ่งประการสำคัญคือ ด้านการท่องเที่ยว ผู้บริโภคเองต้องมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ความงามของธรรมชาติ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เราคงต้องมองภาพใหญ่ ทำให้ภาครัฐหันมาสนใจและผลักดันให้นำไปสู่การแก้ปัญหา ที่ไม่ใช่เพียงแค่ยกเลิกพลาสติกที่หุ้มฝาขวดน้ำหรือพยายามลดหลอดดูดน้ำพลาสติก อาจจะต้องเข้มงวดถึงขั้นเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก อย่างประเทศไอร์แลนด์ เดนมาร์ก เยอรมนี เป็นต้น