กรมชลประทานกับแผนบริหารจัดการน้ำ รับมือภาวะโลกร้อนอย่างอัจฉริยะ

กรมชลประทานกับแผนบริหารจัดการน้ำ รับมือภาวะโลกร้อนอย่างอัจฉริยะ

“น้ำ” ที่ใช้ในประเทศไทยทุกวันนี้ มาจากน้ำฝนเป็นหลัก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงมีส่วนสำคัญต่อการวางแผนบริหารจัดการน้ำแต่ละปีของกรมชลประทาน ผ่านเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำ เขื่อนทดน้ำ ประตูระบายน้ำ อาคารชลประทาน และคลองชลประทาน เป็นต้น

การใช้ระบบ "โทรมาตรแบบเรียลไทม์" ในการติดตามปริมาณน้ำท่า เพื่อรับมือต่อการแปรปรวนของสภาพอากาศได้ทันสถานการณ์ เป็นส่วนหนึ่งของการก้าวสู่องค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการภายในปี 2580

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำ ให้สอดคล้องกับการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี โดยมีหลักการพื้นฐานเก็บน้ำให้มากที่สุดในช่วงฤดูฝน (เดือน พ.ค.-ต.ค.) เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง (พ.ย.-เม.ย.) ให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงการสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนที่อาจมีฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้นได้อีกด้วย

กรมชลประทานกับแผนบริหารจัดการน้ำ รับมือภาวะโลกร้อนอย่างอัจฉริยะ  
 

ลุ่มเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ กินพื้นที่เกือบทั้งหมดตั้งแต่บริเวณภาคเหนือตอนล่างไปจนถึงที่ราบลุ่มภาคกลาง มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 20,125 ตร.กม. ครอบคลุม 22  จังหวัด อาศัยน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอื่นๆ เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ  จึงเป็นลุ่มน้ำที่มีการใช้น้ำสูง ทำให้ในบางปีที่มีปริมาณฝนตกน้อย  จึงมีความเสี่ยงสูงที่ปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก  

ดังนั้น กรมชลประทาน จึงได้กำหนดแผนจัดสรรน้ำและแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง(เดือนพฤศจิกายน-เมษายน) ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ให้เพียงพอใช้ทุกกิจกรรมไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า ควบคู่ไปกับการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในกรณีที่เสี่ยงประสบปัญหาภัยแล้ง

กรมชลประทานกับแผนบริหารจัดการน้ำ รับมือภาวะโลกร้อนอย่างอัจฉริยะ
 

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีการทำนาปรังในลุ่มเจ้าพระยามากกว่าแผนที่กำหนด ซึ่งทำให้ต้องปรับแผนจัดสรรน้ำเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนพื้นที่ที่ยังไม่เก็บเกี่ยว ไม่ให้เกิดความเสียหายตามนโยบายของรัฐบาล โดยขอความร่วมมือจากเกษตรกร ที่เก็บเกี่ยวนาปรังรอบแรกแล้วเสร็จ ไม่ทำนาปรังรอบสอง เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ  และเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด  เนื่องจากต้องสำรองน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ อย่างเพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้าตามแผนฯที่ได้วางไว้ พร้อมกำชับโครงการชลประเทศทั่วประเทศให้ติดตามสภาพอากาศและการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์บริหารจัดการน้ำรายพื้นที่ได้เหมาะสม และที่สำคัญให้ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง