“น้ำ” แล้งนี้จะมีพอกิน-พอใช้หรือไม่ หลัง “เอลนีโญ” กำลังแรง

“น้ำ” แล้งนี้จะมีพอกิน-พอใช้หรือไม่  หลัง “เอลนีโญ” กำลังแรง

จากรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (วันที่ 22 – 29 ม.ค.2567) คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบสถานการณ์น้ำปัจจุบัน และการคาดการณ์ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/2567

อย่างใกล้ชิดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้เกิดน้อยที่สุดตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ 

ปัจจุบันพบว่าปรากฏการณ์เอลนีโญกําลังแรง จะอ่อนลงเป็นเอลนีโญกําลังปานกลาง ในช่วงเดือนเม.ย. - มิ.ย.2567 ด้วยความน่าจะเป็น 73% หลังจากนั้นมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาส่วนสภาพอากาศมีความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงยังคงปกคลุมประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้ากับมีลมแรง

ในส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำภาพรวมประเทศ ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 28 ม.ค.2567) มีปริมาณน้ำ 57,950 ล้านลูกบาศก์เมตร (70%) น้อยกว่าปี 2566 มีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve) 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ อ่างเก็บน้ำกระเสียว และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด

ด้านการคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ต้นฤดูฝน ปี 2567 (วันที่ 1 พ.ค. 2567) จะมีปริมาณน้ำ 19,661 ล้านลูกบาศก์เมตร (47%)มากกว่าปี 2566  ต้นฤดูแล้ง ปี 2567/68 (วันที่ 1 พ.ย.2567) จะมีปริมาณน้ำ 32,835 ล้านลูกบาศก์เมตร (69%)น้อยกว่าปี 2566 

การคาดการณ์ปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยปี 2567 (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำต่ำสุด Lower Rule Curve) ภาคเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และอ่างเก็บน้ำทับเสลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง และอ่างเก็บน้ำสิรินธร ภาคตะวันตก 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี ภาคตะวันออก 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ภาคใต้ 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำรัชชประภา

 

สถานการณ์น้ำในแม่น้ำทั่วประเทศ ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำน้อย โดยแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยวิกฤติ จำนวน 16 ลำน้ำ ได้แก่ แม่น้ำโขงเหนือ แม่น้ำปาย แม่น้ำน่าน แม่น้ำยม แม่น้ำวัง แม่น้ำโขงอีสาน แม่น้ำมูล แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำเพชรบุรี คลองบางสะพาน คลองทับสะแก คลองอู่ตะเภา คลองละงู และแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำมากวิกฤติ จำนวน 1 ลำน้ำ ได้แก่ แม่น้ำโก-ลก

พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/67 พบว่า ด้านน้ำอุปโภค-บริโภค ในเขตความรับผิดชอบของการประปาส่วนภูมิภาค มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 18 สาขา ครอบคลุม 14 จังหวัด ในเขตความรับผิดชอบของการประปาท้องถิ่น มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ครอบคลุม 33 จังหวัด 167 อำเภอ 415 ตำบล ด้านการเกษตร นอกเขตชลประทาน ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรน้ำ มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำสำหรับข้าวนาปรัง ครอบคลุม 13 จังหวัด 35 อำเภอ 93 ตำบล และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำสำหรับพืชต่อเนื่อง ครอบคลุม 22 จังหวัด 68 อำเภอ 168 ตำบล และด้านคุณภาพน้ำ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำของแม่น้ำสายหลักเพื่อการผลิตน้ำประปา ในพื้นที่รับผิดชอบของการประปานครหลวง ครอบคลุม 3 จังหวัด และในเขตการประปาส่วนภูมิภาค ครอบคลุม 7 สาขา 6 จังหวัด

ข้อมูลยังชี้ว่าด้านคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสะพาน พระพุทธยอดฟ้าค่าความเค็มสูงเกินกว่ามาตรฐานอาจส่งผลต่อการผลิตน้ำประปา

จากข้อมูลปริมาณน้ำที่ประเทศไทยในช่วงหน้าแล้งที่จะมาถึง มีข้อพึงระมัดระวังอย่างหนึ่งคือ “ประหยัด” ที่ต้องตระหนักอย่างเคร่งครัดที่ไม่ใช่ช่วงแล้งนี้ แต่ต้องเป็นนิสัยว่าด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าตลอดไป

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์