7 นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ

7 นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ

เปิด 7 นวัตกรรม มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต "ผู้พิการ" ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างคล่องแคล่ว และมีความสุขมากขึ้น

ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดนวัตกรรมสำหรับ ผู้พิการ มากมาย ช่วยในการดำเนินชีวิตประจำวันและเปิดให้เข้าถึงโอกาสใหม่ๆ สามารถทำทุกอย่างได้เหมือนกับผู้คนทั่วไป เช่นเดียวกับ 7 นวัตกรรมสำหรับผู้พิการที่รวมเอาไว้ในบทความนี้ ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้กลับมาใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น 

1. BrainPort การมองเห็นผ่านลิ้น  

BrainPort ถือเป็นนวัตกรรมสำหรับผู้พิการทางสายตา ทำให้ผู้พิการกลุ่มนี้สามารถรับรู้วัตถุได้ดีขึ้น รับรู้สภาพแวดล้อมรอบๆ ช่วยให้มีความคล่องตัวในการเดินทางมากขึ้น โดยหลักการทำงานก็คือ กล้องที่ติดตั้งบริเวณแว่นจะทำหน้าที่จับภาพและแปลงสัญญาณเป็นการกระตุ้นที่ลิ้นของผู้ใช้งาน คล้ายกับอักษรเบรลล์ (Braille) ให้ผู้พิการสามารถตีความรูปร่างขนาดของวัตถุ สถานที่ และลักษณะของพื้นผิว เมื่อผู้พิการได้ทดลองใช้อุปกรณ์นี้ เปรียบเสมือนเป็นการ "มองเห็นผ่านลิ้น" อีกด้วย

7 นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ

2. นวัตกรรมอุปกรณ์ BCI ระบบสั่งการขับรถด้วยคลื่นสมอง

ระบบสั่งการขับรถด้วยคลื่นสมอง BCI (Brain-Computer Interface) เป็นระบบสำหรับผู้พิการแขนหรือกล้ามเนื้อแขนอ่อนแรงที่ไม่สามารถใช้มือและแขนบังคับรถได้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมของไทย โดย มหาวิทยาลัยมหิดล มีการใช้เทคโนโลยีสัญญาณคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ควบคู่กับ AI เพื่อสั่งการควบคุม ประกอบด้วย ชุดอุปกรณ์สัญญาณสมอง ได้แก่ หมวกที่มีอิเล็กโทรดสำหรับวัดสัญญาณสมองจากผิวบนหนังศีรษะ และวงจรขยายสัญญาณสมอง เชื่อมต่อเข้ากับซอฟต์แวร์วิเคราะห์รูปแบบของสัญญาณที่พัฒนาขึ้น เพื่อใช้ในการแยกแยะสัญญาณสมองออกจากสัญญาณชีวภาพชนิดอื่น จากนั้นจึงแยกแยะแต่ละคำสั่งออกมาในรูปแบบที่ต้องการ เช่น ใช้การยกแขนซ้าย-ขวา แทนคำสั่งในการบังคับรถให้เลี้ยวซ้าย-ขวา และเปิดไฟหน้าตามต้องการ

7 นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ

สำหรับนวัตกรรม "ระบบสั่งการขับรถด้วยคลื่นสมอง" ของมหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นนวัตกรรมต้นแบบที่รอความร่วมมือจากผู้ผลิตยานยนต์ เพื่อจะนำไปเชื่อมต่อกับรถยนต์รุ่นต่างๆ สำหรับผู้พิการให้สามารถใช้งานได้จริง

3. "Action Blocks" แอปพลิเคชันช่วยเหลือผู้พิการทางสติปัญญา

Action Blocks ช่วยให้ผู้พิการทางสติปัญญามีการดำเนินชีวิตที่สะดวกขึ้น โดยแอปฯ นี้ สามารถสร้าง "ปุ่มลัด" ต่างๆ ไว้ยังหน้า Home Screen ของสมาร์ทโฟนได้ เพียงแค่กดปุ่มเดียวก็สามารถเชื่อมไปยังแอปพลิเคชันต่างๆ หรือทำ Action อื่นๆ ตามที่ติดตั้งไว้ได้ ไม่ว่าจะใช้โทรหาผู้ดูแล ติดต่อสายด่วน เปิดกล้อง หรือจะใช้เชื่อมกับอุปกรณ์ IoT ภายในบ้าน ก็สามารถทำได้อย่างสะดวก ช่วยให้ผู้พิการทางสติปัญญาช่วยเหลือตัวเองได้ดีขึ้น

7 นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ

4. เท้าเทียมไดนามิกส์ สำหรับผู้พิการไม่มีขา

ต้องยอมรับว่า ขาหรือเท้าเทียมที่ด้อยคุณภาพนั้นมีน้ำหนักมาก และไม่มีข้อเท้า ส่งผลต่อคุณภาพในการดำเนินชีวิตของ ผู้พิการ ทำให้เดินได้ไม่ดี อาจารย์ภาควิชาวิศกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้คิดค้น "เท้าเทียมไดนามิกส์คุณภาพสูง" ผลิตจาก Carbon fiber เกรดการแพทย์ ซึ่งเป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตขึ้นรูปในประเทศไทย ออกแบบฟังก์ชันการทำงานให้มีความยืดหยุ่น สามารถกดขึ้นลง บิดซ้ายขวาได้ เสมือนกับเท้าของคนทั่วไป

นอกจากนี้ ยังมีความสามารถในการกักเก็บและปล่อยพลังงานขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม ทำให้ผู้พิการที่ใช้เท้าเทียมไดนามิกส์ สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้นานขึ้น เดินหรือวิ่งบนพื้นที่ขรุขระได้นานขึ้นในราคาที่จับต้องได้ มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่ต้องเปลี่ยนเท้าเทียมบ่อยๆ อีกทั้งการดูแลรักษา ทำได้อย่างง่ายดาย ปัจจุบันได้มีการออกแบบเท้าเทียมไดนามิกส์ให้เหมาะกับผู้พิการทั้งชายและหญิงที่น้ำหนักตัวต่างกันถึง 11 ไซส์ด้วยกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอเข้าสู่ภายใต้สิทธิการรักษาของรัฐบาล เพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงได้ เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้ดีขึ้น

7 นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ

5. Exoskeleton ช่วยผู้พิการขา ลุกจากวีลแชร์และกลับมาเดินได้อีกครั้ง

หลายคนอาจเคยเห็น Exoskeleton จากต่างประเทศ ที่ช่วยทุ่นแรงให้ผู้ใช้งานสามารถยกสิ่งของหนักๆ ได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการออกแบบให้สามารถขยับขาได้ โดยผู้พิการที่สวมใส่ขาหุ่นยนต์ สามารถเดินได้เกือบเหมือนลักษณะการเดินปกติ โดยไม่จำเป็นต้องออกแรงมากเกินไป และช่วยบรรเทาความรู้สึกเจ็บปวดบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างขาหุ่นยนต์กับร่างกายของคนพิการได้ดี

7 นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ
 
สำหรับขาหุ่นยนต์ Exoskeleton ถูกติดตั้งเข้ากับร่างกายของคนพิการ ตั้งแต่บริเวณเอวลงไปยังต้นขา มีการออกแบบโครงสร้างเป็นโลหะตามแนวขาด้านนอก มีข้อต่อตรงข้อเท้าและหัวเข่า ระบบเซนเซอร์เชื่อมต่อการทำงานเข้ากับกล้ามเนื้อคนพิการ มอเตอร์ไฟฟ้าช่วยในการเสริมแรงในระหว่างการเดิน พร้อมโหมดลุก-นั่ง-ขึ้นบันได และปุ่มควบคุมความปลอดภัย สามารถหยุดได้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยการทำงานทั้งหมดนั้น ถูกวิเคราะห์และประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้จังหวะการเดินมีความถูกต้อง และดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งทีมงานนักพัฒนา ต้องการให้ผู้สวมใส่ขาหุ่นยนต์มีความรู้สึกเหมือนกล้ามเนื้อถูกเชื่อมต่อเข้ากับขาหุ่นยนต์แบบไม่รู้สึกเจ็บปวด โดยใช้หลัก On ground training ให้ผู้ป่วยได้ความรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังเดินอยู่บนพื้นจริงๆ จากเดิมที่ต้องอาศัยนักกายภาพ 2-3 คน ช่วยกันจับแขนขาในการพยุงตัวคนป่วย เพื่อให้ฝึกเดิน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าด้วยการพัฒนาหุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริง (Exoskeleton)

และที่แตกต่างจากหุ่นยนต์ทั่วไปก็คือ ผู้ป่วยที่มีปัญหา โรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาการบาดเจ็บไขสันหลังหรือเส้นประสาท หรืออัมพฤกษ์ อัมพาตนั้น จะได้ฝึกเดินและฝึกกล้ามเนื้อตามแบบการเดินเสมือนจริงบนพื้นจริง ช่วยให้ผู้ป่วยหมุนบิดช่วงข้อเข่า เอว สะโพก มีการเอียงตัวไปด้านหน้าและด้านข้างได้อย่างเป็นธรรมชาติจากการเดินบนพื้นจริง ไม่ใช่เดินบนลู่วิ่ง และไม่ต้องล็อกเอว ล็อกเชิงกรานไว้เหมือนอย่างหุ่นยนต์รุ่นเก่าๆ ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณเอว หลัง และสะโพกฟื้นตัว มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของเซลล์สมองตามมา

7 นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ

6. มือเทียมไบโอนิก รู้สึกได้เหมือนมือจริง

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคส เวสเทิร์น รีเสิร์ฟ ได้ติดตั้งระบบเซนเซอร์ไว้บริเวณมือของแขนเทียมไบโอนิก และเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้ากับเส้นประสาทที่เหลืออยู่ของผู้พิการ เพื่อให้สามารถรับแรงกระตุ้นไฟฟ้าจากระบบเซนเซอร์ได้ ผลก็คือ นอกจากผู้พิการจะสามารถหยิบจับอะไรได้ด้วยมือเทียมแล้ว ยังสามารถรับรู้ความรู้สึกจากการสัมผัสสิ่งของเหล่านั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นแรงกดหรือผิวสัมผัสของสิ่งของ นอกจากนั้นผู้พิการยังรู้สึกเจ็บเหมือนมือจริงๆ โดย "เจสัน ลิตเติ้ล" ผู้พิการมือ อาสาสมัครทดลองเทคโนโลยีใหม่ชิ้นนี้ เปิดเผยว่า เขาสามารถรู้สึกถึงสัมผัสของการกุมมือภรรยาของเขาได้อีกครั้งในรอบ 10 กว่าปี

7 นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ
7. Orcam Glasses แว่นเปลี่ยนชีวิตคนตาบอด

Orcam คืออุปกรณ์เสริมสำหรับติดตั้งบนขาแว่นสำหรับคนตาบอดและผู้พิการทางสายตา หรือมีปัญหาในการมองเห็น โดยจะทำหน้าที่เป็น "ตา" ให้กับผู้สวมใส่ผ่านสมาร์ทคาเมราขนาดเล็ก ซึ่งจะส่งเสียงบอกได้ว่า สิ่งที่อยู่ข้างหน้านั้นคืออะไร นอกจากนี้ยังสามารถอ่านหนังสือ เมนูอาหาร ป้ายจราจร ฉลากยา หรือหน้าจอโทรศัพท์ ให้ผู้ใช้งานฟังได้ด้วย รวมถึงระบบจดจำใบหน้าคน เพื่อช่วยบอกว่าคู่สนทนาเป็นใคร

นวัตกรรมสำหรับผู้พิการทั้ง 7 อย่างในข้างต้น สะท้อนว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือ ผู้พิการ ให้มีโอกาสกลับมาดำเนินชีวิตที่ง่ายขึ้นอีกครั้ง สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว และมีความสุขมากขึ้น แม้คนเราจะมีบางอย่างไม่เท่ากัน แต่สามารถลดช่องว่างนั้นได้ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้พิการให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อีกครั้ง

สามารถติดตามอ่านเรื่องราวดีๆ รวมไปถึงบทความที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่จะช่วยให้ข้อคิด แนวคิด และเคล็ดลับในการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ที่ เว็บไซต์

ที่มา :