อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สั่งแบน “ล้ง - ชิปปิ้ง” เซ่น GAP สวมสิทธิ์

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สั่งแบน “ล้ง - ชิปปิ้ง” เซ่น GAP สวมสิทธิ์

กรณีเจ้าหน้าที่ศุลกากร ด่านศุลกากรอรัญประเทศจับกุมทุเรียนลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ 8,420 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ต่อมาเจ้าของทุเรียนออกมาร้องชี้แจงว่าทุเรียนที่ถูกจับไม่ใช่ทุเรียนลักลอบนำเข้า แต่เป็นทุเรียนที่มาจากจังหวัดศรีสะเกษนั้น ล่าสุดทางกรมวิชาการเกษตรได้มีการตรวจสอบทันทีหลังจากเกิดเรื่องพร้อมชี้แจง

นายระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า หลังจากที่ได้รับรายงานจากกรมศุลกากร ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ สืบหาข้อเท็จจริงโดยลงพื้นที่ไปตรวจสอบสวนทุเรียนดังกล่าว เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ โดยทางเกษตรกรระบุว่ามีการสวมสิทธิ์ มีข้อสังเกตไม่ได้เขียนเลขรหัส ซึ่งกรมวิชาการเกษตรไม่ได้นิ่งนอนใจและได้เร่งตรวจสอบพยานหลักฐานต่าง ๆ

ทั้งนี้หลังจากได้ข้อมูลหลักฐานครบถ้วนแล้ว ทางกรมวิชาการเกษตรได้มอบอำนาจให้หัวหน้าด่านตรวจพืชนครพนมแจ้งความดำเนินคดีกับตัวแทนผู้ส่งออก(ล้ง) และบริษัทที่เกี่ยวข้อง ณ สถานีตำรวจภูธร อ.เมืองนครพนม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ทางบริษัทผู้เสียหายจะทำการส่งออก โดยเป็นข้อหาอาญา เพราะเกี่ยวกับการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งใบรับรองสุขอนามัยพืช (แบบ พ.ก.7) สำหรับทุเรียน ทำให้ผู้อื่น หรือประชาชนเสียหาย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สั่งแบน “ล้ง - ชิปปิ้ง” เซ่น GAP สวมสิทธิ์

นอกจากนี้ทางกรมฯได้มีคำสั่งระงับหนังสือแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช และระงับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งผลทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักรทันที ซึ่งเป็นบริษัทของล้งส่งออก และบริษัทตัวแทนนำเข้า-ส่งเข้า (ชิปปิ้ง) ส่วนสินค้าที่ยังไม่มีการส่งออกได้อายัดไว้หมดแล้ว ขณะเดียวกันได้ทำหนังสืออีกฉบับ เป็นคำสั่งของกรมวิชาการเกษตร สาระสำคัญคือ 1.ระงับล้งส่งออก 2.ระงับบริษัทชิปปิ้ง จนกว่าจะดำนินการแก้ไขให้ถูกต้อง และ 3.เอาผิดอาญา ฐานแจ้งข้อมูลเป็นเท็จ นำไปสู่ผลกระทบที่เสียหายทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการค้าขาย

ทั้งนี้ขอย้ำให้เกษตรกร รวมถึงชาวสวนทุเรียน หวงแหนใบ GAP ตามที่เคยเตือนในภาคตะวันออกว่า อย่าให้มีการซื้อขาย  ขอให้ดูแลใบ GAP เหมือนบัตรประชาชน ไม่เช่นนั้นจะถูกมิจฉาชีพ นำไปอ้างหรือไปสวมสิทธิ์ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง