น้อมรำลึก 25 ปี “แก้มลิงหนองใหญ่” เมืองชุมพร

น้อมรำลึก 25 ปี   “แก้มลิงหนองใหญ่” เมืองชุมพร

น้อมรำลึก 25 ปี “แก้มลิงหนองใหญ่” เมืองชุมพร

“โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ ตามพระราชดำริ”  หรือ คนทั่วไปเรียกว่า “แก้มลิงหนองใหญ่” หรือ “แก้มลิงชุมพร”    เป็น  1 ใน 4,685 โครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของคนจังหวัดชุมพรมากกว่า 25 ปี และในวันที่ 20 มิถุนายน จะเป็นวันครบรอบ เพื่อย้อนระลึกถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถทำให้จังหวัดนี้ไม่เคยประสบภัยน้ำท่วมอีกเลย

ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2540  จังหวัดชุมพรได้เผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ พายุฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนัก น้ำท่วม สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนในพื้นที่และสถานที่สำคัญต่างๆ  รวมมูลค่าความเสียหายกว่า  1,000 ล้านบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9  ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการพระราชทาน พื้นที่หนองใหญ่เป็น โครงการตามพระราชดำริ จังหวัดชุมพร แก้มลิงขนาดใหญ่ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม

“เมื่อดูแผนที่ ก็เห็นว่ามีที่แห่งหนึ่งที่ควรจะทำให้เป็นแก้มลิงได้ มีโดยธรรมชาติ คือ มีหนองใหญ่ หนองใหญ่นั้นเป็นที่กว้างใหญ่สมชื่อ แต่ก็ใหญ่ไม่พอเพราะมีการบุกรุกเข้าไปและตื้นเขิน” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ได้บันทึกการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดชุมพร ว่า

“..เมื่อสองเดือนมีน้ำท่วมหนักในประเทศในหลายจังหวัด แต่ที่ดูรุนแรงที่สุดคือที่จังหวัดชุมพร โดยที่ยังไม่ถึงเวลาที่จะมีพายุไต้ฝุ่นและโซนร้อนมา ฝนลงจนทำให้น้ำท่วมเองชุมพรมีความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้คิดถึงว่าน่าจะไปดูว่าทำไมเป็นอย่างนั้น ฝนตกมาและน้ำท่วมในเมือง เขาว่าบางแห่งก็สองเมตร ทำให้มีความเสียหายมากต่อทรัพย์สินของประชาชนและแม้แต่สิ่งของทางราชการ เช่น ที่โรงพยาบาล เครื่องเอกซเรย์ถูกน้ำท่วมเสียหายไป

น้อมรำลึก 25 ปี   “แก้มลิงหนองใหญ่” เมืองชุมพร

ฉะนั้น ถ้าจะลงทุนเพื่อที่จะป้องกันมิให้น้ำท่วมรุนแรงอย่างนั้นก็ควรหาวิธี ได้ส่งคนไปถ่ายรูปทางบก ทางอากาศ และเราก็ดูแผนที่ เห็นว่ามีที่แห่งหนึ่งที่ควรทำเป็นแก้มลิงได้โดยธรรมชาติ คือ มีหนองใหญ่ หนองใหญ่นั้นเป็นที่กว้างตามชื่อ แต่ว่าก็ไม่ใหญ่พอเพราะว่ามีการบุกรุกเข้าไปและตื้นเขิน ที่สำคัญมีคลองที่อยู่ใกล้หนองใหญ่นั้น แต่คลองนั้นยังตัน คือยังไม่ได้ขุดให้ตลอด เหลือระยะอีกกิโลเมตรครึ่งเศษๆ น้ำที่จะลงในคลองนี้เพื่อที่จะระบายออกทะเลมิให้หันวกมาท่วมเมืองลงทะเลยังไม่ได้ เลยถามว่าโครงการเขาจะขุดคลองนี้เสร็จเมื่อไร เขาบอกว่ามีงบประมาณแล้วแต่ยังไม่มา และว่าจะทำเสร็จในปีหน้าปี 2541 เลยนึกว่าจะต้องหาวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากคลอง ซึ่งได้ลงทุนมากให้ได้

ประโยชน์ในฤดูกาลที่จะมีพายุเข้ามา เลยบอกเขาว่าจะขอสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ทั้งกรมชลประทาน ทั้งฝ่ายจังหวัด และมีบริษัทได้รับมอบหมายให้ทำ ให้เขารีบขุดและทำโครงการให้เสร็จภายในเดือนหนึ่ง แทนที่จะเป็นปีหนึ่งจะกลายเป็นเดือนหนึ่ง ได้รับรองเขาว่าต้องการสนับสนุน

งานจึงเริ่มโดยทำการขุดและทำเป็นท่อ มีประตูน้ำที่จะทะลุออกไปในหนองใหญ่ เพื่อที่จะระบายน้ำลงคลอง บอกเขาว่าให้เวลาเดือนหนึ่ง เขาก็สั่นหัวว่างานนี้ต้องใช้เวลา เลยบอกกับเขาว่าขอสนับสนุนด้วยเงินที่ได้ส่วนหนึ่งของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เพื่ออุดหนุนให้สร้างประตูน้ำ ใส่ท่อและมีประตูน้ำจากหนองใหญ่ลงคลอง ส่วนการขุดคลองให้สำเร็จนั้นทางมูลนิธิชัยพัฒนาได้สนับสนุนเงิน 18 ล้าน ซึ่งทางราชการได้มอบเงินตามงบประมาณ ได้เมื่อไรก็ขอคืนแต่ไม่ทราบว่าทางราชการจะสนับสนุนเงินนี้หรือไม่ แต่ไม่เป็นไร มูลนิธิฯ ก็ยอมที่จะเสียประโยชน์ไปบ้าง …”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จมาทอด พระเนตรและประกอบพิธีเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541 ทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ประกอบด้วย การขุดลอกแก้มลิงหนองใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำ การขุดคลองละมุให้เชื่อมกับคลองท่าแซะ การติดตั้งประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ การติดตั้งระบบ เตือนภัยที่คลองท่าแซะ นับเป็นพระอัจฉริยภาพด้านวิศวกรรมชลประทาน ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองชุมพรและพื้นที่โดยรอบ รอดพ้น จากอุทกภัยน้ำท่วมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ชาวชุมพรต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ดังคำกล่าวที่ว่า “ด้วยพระเมตตาบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น”