"ทริสเรทติ้ง" เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร "กัลฟ์" เป็น A+

"ทริสเรทติ้ง" เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร "กัลฟ์" เป็น A+

"ทริสเรทติ้ง" เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร "กัลฟ์" จาก A เป็น A+ และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน จาก A- เป็น A พร้อมแนวโน้มคงที่ (Stable) สะท้อนกระแสเงินสดเพิ่ม และการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี

เป็นเรื่องที่น่ายินดีของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ( มหาชน) หรือ GULF เมื่อ ทริสเรทติ้ง ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรจากระดับ A มาอยู่ที่ระดับ A+ และปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทฯ จากระดับ A- มาอยู่ที่ระดับ A พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต Stable หรือคงที่ สะท้อนถึงสถานะของบริษัทฯ ที่เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ตลอดจนการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ผลงานในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับ รวมถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูงจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ได้รับอันดับเครดิต AAA/Stable) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ลดทอนลงจากความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการลงทุนในต่างประเทศและการขยายธุรกิจที่รวดเร็วของบริษัทฯ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

กระแสเงินสดจะเพิ่มขึ้น

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า กระแสเงินสดของบริษัทฯ จะยังคงอยู่ในช่วงเติบโตในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยโรงไฟฟ้า IPP ขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่งของบริษัทฯ ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งเมื่อคิดตามสัดส่วนการลงทุนรวมกันประมาณ 3,700 เมกะวัตต์นั้น จะทำให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง ณ ปัจจุบันกำลังการผลิตจำนวนครึ่งหนึ่งได้ดำเนินการจ่ายไฟแล้ว และมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ ทริสเรทติ้งเชื่อว่า กำลังการผลิตส่วนที่เหลือจะสามารถเปิดดำเนินงานในช่วงปี 2566 - 2567 ได้ตามกำหนดการ

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ด้วยว่า บริษัทฯ จะได้รับเงินปันผลจำนวน 4 - 6 พันล้านบาทต่อปี จาก บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ในช่วงระหว่างปี 2566 - 2568 โดยได้รับเงินปันผลพิเศษประมาณ 2 พันล้านบาท ในปี 2566 ซึ่งเงินปันผลจำนวนมากดังกล่าว จะช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่กระแสเงินสดของบริษัทฯ

\"ทริสเรทติ้ง\" เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร \"กัลฟ์\" เป็น A+

แรงกดดันจากภาระหนี้จะลดลง

ทริสเรทติ้ง เชื่อว่า ระดับการก่อหนี้ของ กัลฟ์ ได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว แม้บริษัทฯ จะยังคงมีการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว แต่กระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นก็น่าจะช่วยให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทฯ ลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 7 เท่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากระดับเกือบ 10 เท่า ในปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่า งบลงทุนรวมของบริษัทฯ จะอยู่ในช่วง 2 - 4 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2566 - 2568

โครงสร้างหนี้

ณ เดือนกันยายน 2565 หนี้สินรวมของบริษัทฯ มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2.63 แสนล้านบาท ซึ่งจำนวน 1.59 แสนล้านบาทนั้น เป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ซึ่งประกอบด้วย หนี้เงินกู้ที่มีหลักประกันของบริษัทฯ และหนี้เงินกู้ทั้งหมดของบริษัทย่อย ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทฯ อยู่ที่ระดับ 60% และส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความด้อยสิทธิ์กว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากลำดับสิทธิ์เรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัทฯ

ธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีการกระจายการลงทุนที่ดี

การลงทุนในโรงไฟฟ้าของ กัลฟ์ นั้น มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี โดยบริษัทฯ ลงทุนในโรงไฟฟ้าจำนวนมากกว่า 30 แห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ถือเป็นสินทรัพย์หลักของบริษัทฯ โดยคิดเป็นสัดส่วน 93% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดหรืออยู่ที่ขนาด 8,057 เมกะวัตต์ ในขณะที่กำลังการผลิตส่วนที่เหลืออีก 565 เมกะวัตต์ มาจากโรงไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน ซึ่งประกอบไปด้วย โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และพลังลมหลายแห่งในประเทศเวียดนาม (229 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าพลังลม 1 แห่งในประเทศเยอรมนี (116 เมกะวัตต์) รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวล 1 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังลมและโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอีกหลายแห่งในประเทศไทย (221 เมกะวัตต์) บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้เป็น 30% ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2573 จากประมาณ 8% ในปัจจุบัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นบริษัทฯ จะต้องมีกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีกประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ บริษัทฯ เพิ่งซื้อหุ้นในสัดส่วน 50% ใน บริษัท กัลฟ์ กันกุล คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทและ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL โดยบริษัทร่วมทุนดังกล่าว เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังลมขนาดกำลังการผลิต 178 เมกะวัตต์ ในประเทศไทย

มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูงจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.

อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูงจากโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ อันเนื่องมาจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีกลไกในการส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิง ปัจจุบันบริษัทฯ จำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 90% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนให้แก่ กฟผ. ภายใต้โครงการ SPP และ IPP โดยแต่ละสัญญาที่ทำกับ กฟผ. มีอายุ 25 ปี นับจากวันที่โรงไฟฟ้าเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ สำหรับโครงการ IPP นั้น กฟผ. จะต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment - AP) เต็มจำนวนให้แก่บริษัทฯ ตราบเท่าที่บริษัทฯ สามารถดำรงความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าได้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และแม้ว่า กฟผ. จะไม่สั่งจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า IPP ของบริษัท กฟผ. ก็ยังคงต้องจ่ายชำระในส่วนของค่า AP ให้แก่บริษัทฯ ส่วนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการ SPP นั้น จะแตกต่างออกไปเล็กน้อย โดยสัญญา SPP นั้น กฟผ. จะต้องสั่งจ่ายไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาซึ่งคำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่สามารถดำเนินงานได้ ทั้งโรงไฟฟ้า IPP และ SPP นั้นต่างก็มีกลไกในการส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้กระแสเงินสดที่ได้จากโรงไฟฟ้าเหล่านี้สามารถคาดการณ์ได้ในระดับสูง มีประวัติผลงานในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้า IPP และ SPP ที่ได้รับการยอมรับ

ความเสี่ยงจากการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ

ทริสเรทติ้งคาดว่า บริษัทฯ จะยังคงขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยการลงทุนในต่างประเทศน่าจะคิดเป็นสัดส่วน 10% - 20% ของการลงทุนทั้งหมดของบริษัทฯ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า แม้จะสร้างโอกาสในการเติบโตแต่การลงทุนในต่างประเทศก็มักมีความเสี่ยงที่สูงกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วอย่างประเทศเวียดนาม ความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดนั้น ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ การบังคับใช้สัญญา โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ และสถานะเครดิตของคู่สัญญาที่ซื้อขายไฟฟ้า ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่งแห่งหนึ่งของบริษัทในประเทศเวียดนามได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ส่งผลให้มีเพียงประมาณ 4 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนรวมจำนวน 122 เมกะวัตต์ที่สามารถเปิดดำเนินงานได้ทันก่อนที่ราคาจำหน่ายไฟฟ้าแบบ FiT จะหมดอายุลงในเดือนพฤศจิกายน 2564 และทำให้กำลังการผลิตที่เหลืออีกจำนวน 118 เมกะวัตต์ จำเป็นต้องรอ FiT ใหม่ซึ่งน่าจะประกาศใช้ภายในปี 2566 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักเมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์โรงไฟฟ้ารวมของบริษัทฯ โดยปัจจุบันเงินลงทุนในประเทศเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 3% ของเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท

การขยายธุรกิจไปสู่การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล

บริษัทฯ ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ภายใต้สัญญาร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership - PPP) กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยมี บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ดำเนินงาน ทั้งนี้ บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทและ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด โครงการซึ่งมีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาทนี้ ประกอบด้วยงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (งานขุดลอกและถมทะเล) และงานก่อสร้างท่าเทียบเรือและสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว บริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทนปีละประมาณ 1 พันล้านบาท จาก กนอ. เป็นเวลา 30 ปี หลังจากงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จซึ่งกำหนดไว้ในปี 2567

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • กำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าที่คิดตามสัดส่วนการลงทุนและเปิดดำเนินงานแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,700 เมกะวัตต์ ในอีก 3 ปีข้างหน้า
  • รายได้จากการดำเนินงานรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.15 แสนล้านบาท ในปี 2568
  • อัตราส่วน EBITDA Margin จะทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 30% ในช่วงปี 2566 - 2568
  • เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 2 - 4 หมื่นล้านบาทต่อปี

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากการพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ของบริษัทฯ ล่าช้าไปจากกำหนดการอย่างมีนัยสำคัญจนกระทบต่อกระแสเงินสดที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การลงทุนขนาดใหญ่โดยการก่อหนี้จนทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทฯ อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตได้ ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ระดับเกินกว่า 8 เท่าอย่างมากและต่อเนื่องอาจส่งผลต่ออันดับเครดิตได้

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ trisrating

ติอต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด โทร. 0 2098 3000 และเว็บไซต์ trisrating อีเมล หรืออาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 เลขที่ 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500