ประกันสังคม ผู้ประกันตน ม.33 เช็กสิทธิ! เจ็บป่วยยื่นเบิก "เงินขาดรายได้"

ประกันสังคม ผู้ประกันตน ม.33 เช็กสิทธิ! เจ็บป่วยยื่นเบิก "เงินขาดรายได้"

ประกันสังคม ผู้ประกันตน ม.33 เช็กสิทธิ! เจ็บป่วยยื่นเบิก "เงินขาดรายได้" พร้อมแจงการจัดเก็บเงินสมทบในระบบประกันสังคม

วันที่ 2 เมษายน 2565 นางสาวลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมได้จัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง และ ผู้ประกันตนมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราฝ่ายละ ร้อยละ 5 ของค่าจ้าง

 

 

โดย ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้จัดเก็บเงินสมทบในอัตราร้อยละ 5 นั้น จะถูกแบ่งออกเป็น กรณีเจ็บป่วยอัตราร้อยละ 1.06 กรณีคลอดบุตรอัตราร้อยละ 0.23 กรณีทุพพลภาพอัตราร้อยละ 0.13 กรณีตายอัตราร้อยละ 0.08 รวมการจัดเก็บทั้ง 4 กรณี อัตราร้อยละ 1.50

 

อีกทั้งได้แบ่งเป็นการจัดเก็บเงินสมทบอีก 3 กรณี คือ กรณีสงเคราะห์บุตร กับ กรณีชราภาพ ร้อยละ 3.00 และกรณีว่างงานอีกในอัตราร้อยละ 0.50

 

นางสาวลัดดา กล่าวถึงการจัดเก็บเงินสมทบร้อยละ 1.06 เพื่อดูแลรักษาผู้ประกันตนในยามเจ็บป่วยนั้น สำนักงานประกันสังคมได้ให้สิทธิการรักษาในสถานพยาบาลตามมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน โดยสถานพยาบาลมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนอย่างเต็มกำลังความสามารถตลอด 24 ชั่วโมง และจัดหายาเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนอย่างเพียงพอจนสิ้นสุดการรักษาโดยไม่จำกัดจำนวนเงินค่าใช้จ่าย และจำนวนครั้งที่เข้ารับการรักษา

 

โดยสถานพยาบาลจะไม่เก็บค่าบริการทางการแพทย์จาก "ผู้ประกันตน" โดยเฉพาะการสั่งจ่ายยาที่ใช้สำหรับผู้ประกันตนจะต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานบัญชียาหลักแห่งชาติ และจะต้องจัดให้ผู้ประกันตนโดยไม่เรียกเก็บเงินเพิ่ม ในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับอุบัติเหตุ หรือมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทันที โดยไม่ถูกทวงถามสิทธิก่อนรักษา ไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่ถูกบ่ายเบี่ยงการรักษา และได้รับการดูแลรักษาจนสิ้นสุดการรักษา

 

 

นอกจากสิทธิการรักษาพยาบาลแล้ว "ผู้ประกันตน" สามารถเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้ "เงินขาดรายได้" กรณีหยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่โรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วันต่อปี อีกด้วย

 

โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อว่า สำนักงานประกันสังคมได้มีการควบคุมคุณภาพการให้บริการของสถานพยาบาลในระบบประกันสังคม โดยมีการตรวจประเมินคุณภาพของสถานพยาบาลเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจสอบความพร้อมของสถานพยาบาลตามมาตรฐานในด้านการบริการทางการแพทย์เป็นสำคัญ

 

หากพบสถานพยาบาลใดมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือมาตรฐานที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้จะได้รับการลงโทษตามประกาศสำนักงานประกันสังคม คือ ว่ากล่าวตักเตือน ลดจำนวนโควตาผู้ประกันตนในปีต่อไป ส่งเรื่องให้แพทยสภา หรือยกเลิกสัญญาจ้างแล้วแต่กรณี

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนไม่ได้รับความสะดวกในการเข้ารับบริการทางการแพทย์กับสถานพยาบาลในระบบประกันสังคมสามารถร้องเรียนมาได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่ง หรือที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด / สาขา ทั่วประเทศที่ท่านสะดวก หรือโทร 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ที่มา ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน