บทลงโทษ "รับน้องโหด" สั่งให้ออก 15 รุ่นพี่ มทร.อีสาน ชี้คนละส่วนกับโทษอาญา

บทลงโทษ "รับน้องโหด" สั่งให้ออก 15 รุ่นพี่ มทร.อีสาน ชี้คนละส่วนกับโทษอาญา

คดี "รับน้องเสียชีวิต" จนทำให้นายพัสยศ หรือน้องเปรม นักศึกษา ปวส.ปี 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ล่าสุดมีบทลงโทษรุ่นพี่ออกมาแล้ว

(26 มีนาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบทสรุปของคดี "รับน้องเสียชีวิต" จนทำให้นายพัสยศ หรือน้องเปรม อายุ 19 ปี นักศึกษา ปวส.ปี 1 สาขาช่างกลโรงงาน วิทยาลัยนวัตกรรมอาชีพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ทำแผนจุดเกิดเหตุรุ่นพี่ "รับน้องโหด" เสียชีวิต เตรียมแจ้งข้อหาเพิ่ม 25 คน

- สภานักศึกษา มข. ประณาม "รับน้องโหด" กรณี "น้องเปรม" ถูกรุ่นพี่รุมทำร้ายเสียชีวิต

- "รับน้องเสียชีวิต" เผยกิจกรรมพิเรนทร์ ให้รุ่นพี่ชกหน้าท้องรุ่นน้องทีละคน

 

พนักงานสอบสวน สภ.มะเริง อ.เมืองนครราชสีมา แจ้งข้อหา 7 นักศึกษารุ่นพี่ ชั้นปี 2 ฐานความผิดทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนบาดเจ็บ และแจ้งข้อหารุ่นพี่ทั้งชั้นรวม 25 คน ความผิด พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ และความผิดฐานทำให้ขายหน้าต่อธารกำนัล เร่งรวบรวมพยานหลักฐานทำสำนวนส่งอัยการเพื่อฟ้องศาลภายใน 30 วัน ส่วนร่างของน้องเปรม ครอบครัวได้จัดพิธีฌาปนกิจที่วัด อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา

 

ล่าสุด รองศาสตราจารย์ โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เปิดเผยว่า กรณีนักศึกษา ปวส.โปรแกรมวิชาช่างกลโรงงาน วิทยาลัยนวัตกรรมอาชีพ ได้จัดกิจกรรมรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมไม่พึงประสงค์ จากการสอบสวนของคณะกรรมการปกครอง พบว่า มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 เข้าร่วม 67 คน โดยรุ่นพี่ปี 2 สั่งให้รุ่นน้องปี 1 ถอดเสื้อผ้า อีกทั้งยังสลับสับเปลี่ยนกันสั่งการให้ปี 1 หมอบ คลาน ใช้ศีรษะปักพื้น ชกต่อย และใช้เท้าถีบยันนักศึกษาปี 1 จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

 

เป็นความผิดตามระเบียบว่าด้วยการควบคุมความประพฤติของนักศึกษา และเป็นการฝ่าฝืนประกาศมหาวิทยาลัย เรื่องการงดจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ ประจำปีการศึกษา 2564 อาศัยอำนาจตามมาตรา 24 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.2548 กอรปกับระเบียบว่าด้วยการควบคุมความประพฤติของนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมวคลอีสาน พ.ศ.2549 และประกาศมหาวิทยาลัย เรื่องงดกิจกรรมรับน้อง จึงออกคำสั่งมหาวิทยาลัย เรื่องการลงโทษวินัยนักศึกษา ดังนี้

 

นักศึกษารุ่นพี่ ปวส.ปี 2 จำนวน 15 ราย ผู้ร่วมการฝ่าฝืน วางแผน สั่งการ ควบคุมการดำเนินกิจกรรม ทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยการใช้ไม้ฟาด ชกต่อย และใช้เท้าถีบยัน เป็นเหตุทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต มีความผิดตามระเบียบ มีโทษให้ออก

 

ขณะเดียวกัน ยังสั่งให้ลงโทษนักศึกษารุ่นพี่ปี 2 อีก 10 ราย ฐานมีส่วนร่วมในการวางแผน สั่งการ ควบคุมการดำเนินกิจกรรมให้รุ่นน้องปี 1 ถอดเสื้อผ้า หมอบ คลาน และใช้ศีรษะปักพื้น เป็นเหตุทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ มีโทษผลการสอบของภาคการศึกษานั้นเป็น "โฆษะ" โดยให้บันทึกผลการศึกษาเป็น W และลงโทษนักศึกษารุ่นพี่ปี 2 ที่เหลืออีก 5 ราย ฐานความผิดเป็นผู้ที่ทราบว่าจะมีการจัดกิจกรรม ตั้งแต่การวางแผน การนัดหมาย การเดินทาง ตลอดจนดำเนินกิจกรรมจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

 

ทั้งที่ทราบกิจกรรมดังกล่าวขัดต่อประกาศมหาวิทยาลัย แต่กลับไม่ได้ห้ามปรามหรือแจ้งอาจารย์ หรือผู้เกี่ยวข้องทราบเพื่อเข้าระงับเหตุ เป็นการร่วมกันสนับสนุนให้เกิดกิจกรรม ให้ลงโทษตัดคะแนนความประพฤติ 10 คะแนน พร้อมแจ้งผู้ปกครองให้ทราบ

 

นอกจากนี้ยังสั่งลงโทษนักศึกษาปี 1 จำนวน 37 ราย ฐานความผิดมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมไม่พึงประสงค์ เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องอันเป็นการขัดต่อประกาศของมหาวิทยาลัย ให้ลงโทษตัดคะแนนความประพฤติ 10 คะแนน พร้อมแจ้งผู้ปกครองให้ทราบ อย่างไรก็ตาม นักศึกษาที่มีบทลงโทษ สามารถอุทธรณ์คำสั่งได้ภายใน 15 วัน โดยคำสั่งลงโทษมีผลตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2565

 

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวอีกว่า บทลงโทษจากทางมหาวิทยาลัยคนละส่วนกับโทษทางอาญา โดยบทลงโทษให้ออกนักศึกษารุ่นพี่ 15 คน ทุกคนจะต้องมาเขียนใบลาออกและสามารถนำผลการเรียนของปี 1 ไปใช้ประโยชน์สมัครเข้าเรียนต่อได้

 

ถือเป็นโทษขั้นสูงใกล้เคียงกับ "ไล่ออก" แต่นักศึกษากลุ่มนี้ยังมีทางเดินทางการศึกษาในอนาคต แต่หากต้องมองไปถึงโทษทางคดีอาญาที่ตำรวจแจ้งข้อหารุ่นพี่กลุ่มนี้ 7 คน ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ซึ่งทั้ง 7 คนรับสารภาพมีการถูกเนื้อต้องตัวน้องเปรมจนถึงแก่ความตาย โทษในคดีอาญาอาจรุนแรงถึงขั้นขนาดตัดสินอนาคตของเด็กกลุ่มนี้

 

ทั้งนี้ บทลงโทษที่คณะกรรมการปกครองพิจารณาแล้วนั้น จะเป็นมาตรฐานของมหาวิทยาลัย และเป็นกรณีศึกษาสำหรับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยได้รับความบอบช้ำจากเหตุการณ์นี้ ยอมรับสภาพกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจะวางแนวทางแก้ไขให้ดีที่สุด เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในอนาคต

 

ส่วนการช่วยเหลือครอบครัว “น้องเปรม” มีกลุ่มศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมอบเงินเยียวยา 400,000 บาท ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยได้ตั้งกองทุนเบื้องต้น 400,000 บาท ช่วยเหลือน้องสาวของน้องเปรม ให้ได้รับทุนเรียนจนจบปริญญาตรี และช่วยเหลือแฟนสาวของน้องเปรมให้เรียนจบปริญญาตรีเช่นกัน