เปิดหน้ากฎหมาย “ซื้อขายอวัยวะ” แค่ขำๆ หรือทำได้จริง?

เปิดหน้ากฎหมาย “ซื้อขายอวัยวะ” แค่ขำๆ หรือทำได้จริง?

เอะอะจะ ”ขายตับ” เอะอะจะ “ขายไต” จริงหรือไม่ที่เรา “ขายอวัยวะ” ได้ เวลาไม่มีเงิน อย่าเพิ่งรีบประกาศขาย มาดูกฎหมายก่อนว่าผิดไหม

วลี ขายไต มักจะถูกนำมาพูดเล่นเวลาเงินขาดมือหรือต้องการเงินไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง แต่เมื่อมีคน “เอาจริง” กับการขายไต แต่กฎหมายไทยรับรองให้การ ขายอวัยวะ ทำได้หรือไม่

เป็นอย่างที่หลายคนเข้าใจ กฎหมายของประเทศไทย ห้ามมิให้มีการซื้ออวัยวะหรือจ่ายค่าตอบแทนอวัยวะ เพื่อนำมาใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยกำหนดไว้ในกฎเกณฑ์และข้อบังคับเกี่ยวกับจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพของแพทย์เกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะ และระเบียบของสภากาชาดเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ

แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายที่กำหนดความผิดอาญาไว้โดยเฉพาะ แต่ลักษณะการกระทำของแพทย์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ซื้อขายอวัยวะ ถูกระบุว่าอาจเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดอาญาในกฎหมายอื่นๆ ได้ ดังนี้

กรณีแหล่งที่มาของอวัยวะมาจากบุคคลที่ยังมีชีวิต

- ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย 

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา295 และ มาตรา 297 อนุมาตราสาม เนื่องจากลักษณะเฉพาะของการซื้อขายอวัยวะจะต้องมีขั้นตอนการดำเนินการผ่าตัด ซึ่งกรณีที่แพทย์ผ่าตัดเอาอวัยวะออกจากร่างกายของผู้ให้อวัยวะที่ยังเป็นผู้ที่มีชีวิตและมีสุขภาพปกติ ย่อมไม่ใช้การกระทำตามมาตรฐานทางวิชาชีพ แพทย์ไม่มีอำนาจกระทำการ ดังนั้น การกระทำของแพทย์จึงเป็นการกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกาย

- ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ในกรณีที่แพทย์ ผ่าตัดนำอวัยวะที่มีความสำคัญต่อชีวิต เช่น หัวใจ ออกจากร่างกายของผู้ให้อวัยวะ การกระทำของแพทย์ย่อมเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่า เนื่องจากแพทย์ย่อมรู้ถึงการกระทำของตนว่าหากผ่าตัดนำอวัยวะดังกล่าวออกจากร่างกายของผู้ให้อวัยวะแล้ว ผู้ให้อวัยวะจะถึงแก่ความตาย

 

- ความผิดฐานค้ามนุษย์

ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 ซึ่งหากบุคคลใดกระทำการครบองค์ประกอบพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ องค์ประกอบของลักษณะของการกระทำ องค์ประกอบของวิธีการ และองค์ประกอบของการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลซึ่งคือเจตนาพิเศษตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น บุคคลนั้นกระทำ ความผิดฐานค้ามนุษย์

 

กรณีแหล่งที่มาของอวัยวะมาจากบุคคลที่ตายแล้ว

- ความผิดฐานทำให้ศพเสียหาย

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 366/3 ต้อง เป็นการทำให้ศพ ส่วนของศพ อัฐิ หรือเถ้าของศพ เสียหาย เคลื่อนย้ายศพ ทำลายศพ ทำให้ศพ นั้นเสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์ โดยไม่มีเหตุอันสมควรในการกระทำ ถ้าหากว่าการกระทำของบุคคล นั้นกระทำโดยมีเหตุสมควรแล้วย่อมจะไม่เป็นความผิด เช่น การชันสูตรพลิกศพ การเคลื่อนย้ายศพเพื่อการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงการซื้อขายอวัยวะที่ต้องมีการตัดอวัยวะจากศพเพื่อนำไปซื้อขาย การกระทำที่ผู้ที่ตัดอวัยวะย่อมจะต้องเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะกระทำ ผู้ที่ตัดอวัยวะจากศพจึงอาจเป็นการกระทำผิดตามมาตรานี้ได้

 

- ความผิดฐานดูหมิ่นเหยียดหยามศพ

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 366/4 โดยการกระทำที่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพมีความหมายครอบคลุมทั้งการดูหมิ่นเหยียดหยามทั้งโดยวาจาและการกระทำ จึงมีความหมายกว้าง โดยอาศัยแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 2809/2511 ที่วินิจฉัยว่าดูหมิ่นเป็นการเหยียดหยามทาให้อับอาบขายหน้าลดคุณค่าดูถูก พูดจาเหยียดหยามต่อผู้ถูกดูหมิ่น หรือทำด้วยกริยาอย่างอื่น ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าการตัดอวัยวะจากศพเพื่อนำไปแสวงหาประโยชน์ทางการเงินก็สามารถเทียบเคียงได้กับการลดทอน คุณค่าได้เช่นเดียวกัน

 

- ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ซึ่ง คุณธรรมทางกฎหมายของความผิดฐานนี้ คือ การคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์ ซึ่งคุ้มครองทั้งคุณค่าของวัตถุนั้นและการทรัพย์ด้วยการแปรสภาพไปจากเดิมโดยไม่ให้ทรัพย์นั้นเสื่อม หรือถูกทำลาย โดยที่เจ้าของทรัพย์ไม่ยินยอม ดังนั้นจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในเบื้องต้นก่อนว่า ร่างกายของผู้ที่ถึงแก่ความตายหรือศพถือว่าเป็นทรัพย์ อันจะทำให้การกระทำต่อร่างกายผู้ที่ถึงแก่ความตายหรือศพเป็นการกระทำผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ได้หรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้ศาลฎีกายังไม่เคยวินิจฉัยไว้ว่าศพเป็นทรัพย์หรือไม่ โดยในหลายประเทศเห็นว่าศพไม่มีสถานะเป็นทรัพย์สิน และศาลต่างประเทศมีการตัดสินว่าสถานะของศพไม่ใช่ทรัพย์สิน ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันแม้ว่าจะยังไม่ได้ข้อสรุปสถานะของศพจะเป็นทรัพย์หรือไม่ การตัดอวัยวะเพื่อนำไปซื้อขายโดยพลการ ย่อมจะเป็นการกระทำผิดในลักษณะของการทำลายศพตามบัญญัติความเกี่ยวกับศพที่มีการบัญญัติแก้ไขขึ้นใหม่ได้

 

จะเห็นได้ว่าการพิจารณาปรับบทกฎหมายในปัจจุบันจะมุ่งเน้นไปที่การกระทำของแพทย์ที่ลงมือผ่าตัดเอาอวัยวะออกจากร่างกายของผู้ขายอวัยวะเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วกระบวนการซื้อขายอวัยวะมีบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น นายหน้า คนกลาง เป็นต้น

สรุปได้ว่าการ "ซื้อขายอวัยวะ" เป็นการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการแสวงหาประโยชน์จากร่างกายของบุคคลอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจนโดยมิชอบ กระทบต่อระบบการจัดสรรอวัยวะและการสาธารณสุขของประเทศ และส่งผลให้มีการก่ออาชญากรรมในรูปแบบอื่นๆ ตามมาด้วย

จะไม่มีเงินแค่ไหน ก็บอกได้เลยว่า การเที่ยวมาเร่ขายตับขายไต นั้นทำไม่ได้แน่นอน สิ่งเดียวที่ทุกคนทำได้คือ “ตั้งใจ” หาทางแก้ปัญหา สุดท้ายจะเห็นทางออก