เปิดโปงปม "ค้ามนุษย์" เมื่อไทยกลายเป็นประเทศ "ศูนย์กลาง" ขบวนการเบ็ดเสร็จ

เปิดโปงปม "ค้ามนุษย์" เมื่อไทยกลายเป็นประเทศ "ศูนย์กลาง" ขบวนการเบ็ดเสร็จ

เมื่อสถานะประเทศไทย กลายเป็นประเทศต้นทาง ทางผ่าน และประเทศปลายทาง ในรูปแบบขบวนการ "ค้ามนุษย์" อย่างแบบเบ็ดเสร็จ

จากประเด็น “ขบวนการค้ามนุษย์” ที่กำลังถูกพูดถึงในสังคม ภายหลังพรรคก้าวไกล ได้สัมภาษณ์ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าชุดปราบปรามการค้ามนุษย์ เมื่อปี 2558 ที่ทำให้สังคมไทยเกิดความตื่นตัวในเรื่องของการค้ามนุษย์อีกครั้ง

จากความเข้าใจของคนสังคมในที่ผ่านมาว่าประเทศไทย เป็นเพียงแค่ "ทางผ่าน" ของขบวนการค้ามนุษย์ เพื่อส่งต่อเหยื่อไปยังประเทศปลายทางเท่านั้น แต่ในสถานการณ์จริง สถานะของประเทศไทยในกระบวนการค้ามนุษย์ กลับครอบคลุมขบวนการค้ามนุษย์โดยเบ็ดเสร็จ เนื่องจากสถานะของประเทศไทยในขบวนการค้ามนุษย์มีครบทั้ง 3 สถานะ ดังนี้

1.ประเทศต้นทางของการค้ามนุษย์

2.ประเทศทางผ่านของการค้ามนุษย์

3.ประเทศปลายทางของการค้ามนุษย์

อ่านเพิ่มเติม :

เปิดสถิติคดี "ค้ามนุษย์" ในไทยปี 64 กับการจัดอันดับ "เทียร์สอง"

ส่องรูปแบบ-วิธีการ “ค้ามนุษย์” ในไทย ใครมักตกเป็นเหยื่อ?

ส่อง “ขบวนการค้ามนุษย์” ในสังคมไทย กับปมร้อน "พล.ต.ต.ปวีณ"

ผลการวิจัยเรื่อง "บทบาทตำรวจตรวจคนเข้าเมืองด้านการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์" โดย พ.ต.ท.ดร.พงษ์นคร นครสันติภาพ ให้ข้อมูล "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ว่า การค้าแรงงานข้ามชาติในขณะนั้น ในประเทศไทยมีการส่งแรงงานไร้ฝีมือไปไต้หวันมากที่สุด โดยเป็นแรงงานผิดกฎหมายประมาณ 30,000 คนต่อปี และนำเข้าจากเมียนมา ลาว กัมพูชา จีน และเวียดนาม รวมกันประมาณ 2 ล้านคนต่อปี

สำหรับการส่งออกและนำเข้าผู้หญิงและเด็ก เพื่อธุรกิจการบริการทางเพศ พบว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดที่ผู้หญิงชาวไทยถูกส่งตัวไปมากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผ่านการลักลอบนำผู้หญิงไทยเข้าไปในประเทศแบบผิดกฎหมายประมาณปีละ 10,000 – 15,000 คน

นอกจากนี้ในผลการวิจัยเรื่อง "บทบาทตำรวจตรวจคนเข้าเมืองด้านการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์" จำแนกการค้ามนุษย์เป็น 2 ประเภท

1.การค้ามนุษย์ในประเทศ เป็นการค้ามนุษย์จากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเด็กและผู้หญิง มีสาเหตุหลักมาจากความยากจน หรือ การด้อยโอกาสทางการศึกษา โดยจะใช้วิธีการล่อลวงว่าไปทำอาชีพถูกกฎหมาย เช่น ทำงานในโรงงาน แต่ในความจริงกลับนำไปขายต่อให้กับสถานประกอบการที่มีการค้าประเวณี

2.การค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ เป็นการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ จากประเทศไทยไปต่างประเทศ หรือจากต่างประเทศมายังประเทศไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก และผู้หญิงในแถบประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มาจากปัญหาทางเศรษฐกิจและมีความต้องการเข้ามาหางานที่มีรายได้สูง โดยมีวิธีการล่อลวงที่ไม่แตกต่างจากการค้ามนุษย์ภายในประเทศ

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์

เครือข่ายของขบวนการค้ามนุษย์ถือว่ามีรูปแบบที่ซับซ้อน และมีการบริหารจัดการที่ดี มีการสนับสนุนซึ่งกันและกัน รวมถึงมีการตัดตอนตัวการสำคัญ โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องส่วนใหญ่ ประกอบด้วย

1.นายหน้า มีหน้าที่ติดต่อ ชักชวน และนำพาเหยื่อมาส่งต่อให้ผู้ค้า

2.ผู้ค้า มีหน้าที่จัดหาที่อยู่อาศัยให้เหยื่อ รวมถึงดำเนินการติดต่อไปยังปลายทางเพื่อทำเรื่องดำเนินการปลอมแปลงเอกสารสำคัญประจำตัวของเหยื่อ เพื่อใช้ในการส่งต่อไปยังประเทศปลายทาง

3.ผู้นำทาง มีหน้าที่รับเหยื่อจากลูกค้า เพื่อพาไปยังเป้าหมาย

4.ผู้รับ มีหน้าที่รับเหยื่อเข้าสู่การค้ามนุษย์ เช่น การค้าบริการทางเพศ การใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย

5.ผู้ควบคุมดูแล มีหน้าที่บังคับเหยื่อให้ยินยอมทำงาน หากขัดขืนอาจจะถูกทำร้ายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

6.ลูกค้า ผู้ที่เข้ามาซื้อบริการทุกรูปแบบ

ประเด็นเรื่อง “ขบวนการค้ามนุษย์” นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยมายาวนาน และไม่สามารถตัดช่องทางของขบวนการได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากการ "ค้ามนุษย์" เป็นความผิดที่กระทำในรูปแบบขององค์กรอาชญากรรมที่ทำกำไรได้มากที่สุด ซึ่งกระทำโดยอาชญากรทุกระดับ ตั้งแต่นายหน้าผู้ขนส่งในระดับล่างไปจนถึงเครือข่ายการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ

ถึงแม้ไทยจะสามารถขยับขึ้นมาอยู่ในระดับ "เทียร์ 2" ได้ แต่ยังประสบปัญหาในการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์จากหลายด้าน ตั้งแต่ ปัญหาเชิงนโยบาย ปัญหาเชิงบริหาร ปัญหาเชิงการประสานงานแบบบูรณาการ 

ทั้งหมดเป็นโครงสร้างขบวนการค้ามนุษย์ อีกหนึ่งปัญหาที่แฝงตัวในสังคมไทย ที่ยังถูกจับตาจากการจัดอันดับโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ทุกปี