เปิดสถิติคดี "ค้ามนุษย์" ในไทยปี 64 กับการจัดอันดับ "เทียร์สอง"

เปิดสถิติคดี "ค้ามนุษย์" ในไทยปี 64 กับการจัดอันดับ "เทียร์สอง"

ส่องสถิติปัญหา "ค้ามนุษย์" ในไทยปี 2564 จากข้อมูล "สำนักแผนงานและงบประมาณ" ศาลยุติธรรม กับคดีที่เข้าสู่การพิจารณาทั้งหมด

จากประเด็นปัญหาเรื่อง "ค้ามนุษย์" ตั้งแต่แรงงานภาคประมงหรือการค้าประเวณีเด็ก ภายหลังถูกจุดฉนวนขึ้นมาอีกครั้งในเวทีอภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงมติ จนเป็นกระแสสังคม

เมื่อข้อมูลของ สำนักแผนงานและงบประมาณ ศาลยุติธรรม รายงานว่า จำนวนคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลทั่วราชอาณาจักร ระหว่างเดือน มกราคม - ธันวาคม 2564 มีคดีที่เข้าสู่การพิจารณาทั้งหมด 402 คดี และคดีที่พิพากษาแล้วเสร็จจำนวน 223 คดี

แบ่งเป็นคดีที่ศาลพิจารณาลงโทษทั้งหมด 201 คดี คดีที่ศาลยกฟ้อง 8 คดี และคดีที่จำหน่าย 14 คดี โดยปริมาณคดีที่พิพากษาแล้วเสร็จ คิดเป็นร้อยละ 55.47 ของคดีที่เข้าสู่การพิจารณา

อ่านเพิ่มเติม :

ส่องรูปแบบ-วิธีการ “ค้ามนุษย์” ในไทย ใครมักตกเป็นเหยื่อ?

ส่อง “ขบวนการค้ามนุษย์” ในสังคมไทย กับปมร้อน "พล.ต.ต.ปวีณ"

สำหรับรูปแบบความผิดในฐานการ "ค้ามนุษย์" จากข้อมูลทั้งหมด 402 คดี แบ่งได้ดังนี้

1.การแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าประเวณี จำนวน 221 คน หรือ ร้อยละ 63.32

2.ผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก จำนวน 16 คน หรือ ร้อยละ 4.58

3.การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น จำนวน 14 คน หรือ ร้อยละ 4.01

4.นำคนมาเป็นทาส จำนวน 55 คน หรือ ร้อยละ 15.76

5.นำคนมาขอทาน จำนวน 4 คน หรือ ร้อยละ 1.15

6.การบังคับใช้แรงงาน หรือบริการ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

1.การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ (ไม่เกี่ยวกับประมง) จำนวน 18 คน หรือร้อยละ 5.16

2.การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ (เกี่ยวกับประมง) จำนวน 19 คน หรือ ร้อยละ 5.44

3.การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ (เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่อง) จำนวน 2 คน หรือ ร้อยละ 0.57

ถึงแม้ภาครัฐจะเดินหน้าเร่งปราบปรามคดีความ ที่เกี่ยวข้องกับการ "ค้ามนุษย์" ในไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นนี้ยังไม่ถูกพูดถึงในสังคม จนกระทั่งมีการออกมาให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตตำรวจผู้ปราบปรามการค้ามนุษย์เมื่อปี 2558 จนทำให้สังคมไทยเริ่มมีการตื่นตัวและมีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยกว่าเดิม

จากสถิติในปี 2564 พบว่าความผิดฐานค้ามนุษย์ในไทยมุ่งไปที่การหลอกคนมาค้าบริการมากเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองนำคนไปเป็นทาส และอันดับสามบังคับใช้แรงงาน

เหตุผลเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ทำให้จากรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2564 ของสถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลในไทยระบุว่า ประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง หรือ "เทียร์สอง"

สำหรับรายละเอียดสำคัญของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 หรือ พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ฯ ในมาตรา 6 ระบุว่า ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนียวกักขังจัดให้อยู่อาศัยหรือรับไว้ซึ่งบุคคลใน โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว หลอกลวงใช้อำนาจโดยมิชอบครอบงำบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนแอทางร่างกาย จิตใจ หรือทางอื่นโดยมิชอบ ว่าจะใช้กระบวนการโดยมิชอบ หรือให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้น

การกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบนั้น คือการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ เช่น การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงไปเป็นทาสหรือให้มีฐานะคล้ายทาส การนำคนมาขอทาน การตัดอวัยวะเพื่อการค้า การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ หรือการอื่นที่คล้ายกับกรขูดรีดบุคคลไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม