จากกรณี "แตงโม" พลัดตกเรือ สู่วิธี "เอาตัวรอด" หากเกิดเหตุจมน้ำไม่มีชูชีพ

จากกรณี "แตงโม" พลัดตกเรือ สู่วิธี "เอาตัวรอด" หากเกิดเหตุจมน้ำไม่มีชูชีพ

จากกรณีดาราสาวชื่อดัง “แตงโม นิดา” หรือ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ พลัดตกเรือสปีดโบ๊ตที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ชวนรู้วิธี "เอาตัวรอด" เมื่อเกิดเหตุจมน้ำในแม่น้ำหรือทะเล ทั้งกรณีที่ใส่ชูชีพและไม่ได้ใส่ชูชีพ

จากกรณีดาราสาวชื่อดัง “แตงโม นิดา” หรือ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ อายุ 37 ปี พลัดตกเรือสปีดโบ๊ต บริเวณใต้สะพานพระราม 7 ช่วงท่าเรือพิบูลสงคราม 1 ระหว่างล่องเรือที่ "แม่น้ำเจ้าพระยา" กับเพื่อนๆ เมื่อคืนที่ผ่านมา (24 ก.พ. 65) จนถึงช่วงสายของวันนี้ (25 ก.พ. 65) ทีมกู้ภัยก็ยังคงปฏิบัติการค้นหาต่อไปอย่างไม่ลดละ

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตกใจให้แก่ผู้ที่ทราบข่าวอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางหรือโดยสารเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา อาจหวั่นใจว่าหากเกิดเหตุไม่คาดฝันในลักษณะนี้จะมี "วิธีเอาตัวรอด" ได้อย่างไร กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ หาคำตอบมาให้แล้วดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

 

 

  • กรณีไม่มีเสื้อชูชีพ/ไม่มีอุปกรณ์พยุงตัว

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ข้อมูลไว้ว่า วิธีการเอาตัวรอดจากการจมน้ำที่ถูกต้อง ก็คือ การลอยตัวอยู่นิ่งๆ พยายามลอยอยู่ที่ผิวน้ำโดยใช้กำลังให้น้อยที่สุด จะได้ไม่เหนื่อย ไม่หมดแรง

เมื่อหายใจเอาอากาศเข้าไปในปอด ปอดก็จะเป็นเสมือนชูชีพพยุงเราไว้ไม่ให้จมน้ำ โดยการลอยตัว และบังคับทิศทางให้สามารถเคลื่อนที่ไปได้ มีวิธีลอยตัว 2 แบบ คือ

1. นอนหงาย ให้ปากและจมูกโผล่พ้นน้ำเพื่อหายใจ

การลอยหงายจะเก็บแรงได้มากกว่า บางคนอาจลอยได้ทั้งวัน พยายามให้ใบหน้าพ้นน้ำไว้ ปล่อยตัวตามธรรมชาติ อย่าเกร็งตัว หายใจเอาอากาศเข้าปอด ถีบขาคล้ายๆ ท่ากบ

ใช้มือพุ้ยน้ำเบาๆ จะช่วยให้ลอยตัวและเคลื่อนที่ไปได้ ในขณะที่รอความช่วยเหลืออยู่นั้น ควรตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก พยายามปลดเปลื้องเสื้อผ้า รองเท้า หรือเครื่องประดับที่มีน้ำหนักออกไป   

2. นอนคว่ำ ลำตัวปริ่มน้ำและเงยหน้าขึ้นมาหายใจ

หากกระแสน้ำมีคลื่นลมแรง ให้ลอยตัวแบบคว่ำหน้า แล้วค่อยเงยหน้าขึ้นมาหายใจเป็นพักๆ ซึ่งจะปลอดภัยกว่า ใช้มือพุ้ยน้ำเบาๆ จะช่วยให้ลอยตัวและเคลื่อนที่ไปได้ วิธีนี้ก็ต้องตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก พยายามปลดของที่มีน้ำหนักออกไปเช่นกัน

อีกวิธีหนึ่งคือ การลอยตัวอยู่กับที่ โดยใช้แขนกดลงน้ำแล้วกวาดออก ดึงแขนกลับมาแล้วกดลงน้ำซ้ำอีก ลักษณะคล้ายๆ วาดเลขแปดในน้ำ ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ถีบขาเบาๆ คล้ายท่ากบ ไม่ต้องพับเข่าเข้ามามากนัก พยายามให้ศีรษะอยู่พ้นน้ำไว้

อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้น ซึ่งหากตกอยู่ในสถานการณ์จริงอาจจะทำได้ยาก การที่จะปฏิบัติได้จริงจะต้องได้รับการฝึกฝนมาก่อน

 

 

  • กรณีสวมเสื้อชูชีพ/มีอุปกรณ์พยุงตัว

ส่วนกรณีที่พลัดตกน้ำแต่มีการสวมชูชีพไว้ มีวิธีการเอาตัวรอดและขอความเหลือตามที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านนิเวศทางทะเล ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีนี้เอาไว้ ดังนี้

การพลัดตกลงไปในแม่น้ำมีความอันตราย เพราะน้ำแรง น้ำขุ่น มีสวะหรือผักตบมากมาย อีกทั้งน้ำจืดยังตัวจมง่ายกว่าน้ำเค็ม(ทะเล) ดังนั้น การระวังตัวที่ดีที่สุดก็คือ การสวมเสื้อชูชีพ 

หากใส่ชูชีพอยู่ ยังไงก็ลอยตัวได้ มีโอกาสปลอดภัยสูง ขอเพียงคุมสติ อย่าตกใจ แม้ว่ายน้ำไม่เป็นก็ไม่ต้องตกใจ เมื่อใส่เสื้อชูชีพแล้วไม่ต้องกลัวจม

1. วิธีการลอยตัวเมื่อสวมชูชีพอยู่ :

ให้นอนหงาย แล้วใช้แขนว่ายน้ำกวาดออกไปในลักษณะว่ายกรรเชียงเป็นหลัก ขาเหยียดออกไปเอาไว้เผื่อถีบสิ่งกีดขวาง แขนสองข้างคอยกวาดน้ำประคองตัวและทิศทาง

ที่สำคัญ อย่าพยายามว่ายสวนน้ำ ให้ว่ายตามน้ำเบนเข้าหาตลิ่งที่ใกล้ที่สุด ระหว่างนั้น สังเกตเรือรอบด้าน ตะโกนขอความช่วยเหลือเมื่ออยู่ใกล้ หากมีนกหวีดติดที่ชูชีพด้วยจะดีมาก 

2. วิธีลดอาการตกใจ/สติแตก

อาจทำได้โดยดูก่อนว่าเราอยู่ตรงไหน ใกล้ฝั่งไหนมากกว่ากัน มองไปปลายน้ำ ดูเป้าหมายริมตลิ่งที่เราคิดว่าจะไป เป้าหมายไม่ใช่จุดที่ใกล้สุด ต้องเป็นปลายน้ำเท่านั้น มองหาเป้าหมายจุดใหญ่ๆ ไว้ก่อน เช่น ท่าเรือ/โป๊ะเรือ ที่ยื่นออกมากลางแม่น้ำ เป็นเป้าหมายที่ดีที่สุด

การมีเป้าหมายจะทำให้เราไม่ขาดสติ จากนั้นค่อยๆ ว่ายเฉียงตามน้ำไปหาเป้าหมาย ระหว่างนั้น ดูเรือระหว่างทาง หากมีเรือเข้าใกล้อาจเป่านกหวีดหรือตะโกนขอความช่วยเหลือ

---------------------------------------

อ้างอิง : thon.thamrongnawasawatสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)