ส่องระบบเก็บเงินค่าผ่านทาง “M-Flow” ต่างกับ “M-PASS/ Easy Pass” อย่างไร?

ส่องระบบเก็บเงินค่าผ่านทาง “M-Flow” ต่างกับ “M-PASS/ Easy Pass” อย่างไร?

ชวนส่องความแตกต่างระบบเก็บเงินค่าผ่านทาง ระหว่าง “M-Flow” กับ “M-Pass/ Easy Pass” แตกต่างกันอย่างไร ทั้งระบบไม้กั้น ชนิดของรถที่ผ่านได้-ผ่านไม่ได้ และรูปแบบการชำระเงิน ตามไปหาคำตอบกัน!

เมื่อกรมทางหลวงเปิดระบบเก็บเงินค่าผ่านทางแบบ “M-Flow” ซึ่งเป็นระบบผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น หลังเปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียนได้ไม่นาน ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในหลายๆ แง่มุม รวมถึงจุดบอดของระบบที่ยังต้องแก้ไขหลายอย่าง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนดูระบบเก็บเงินค่าผ่านทาง ระหว่างรูปแบบ “M-Flow” กับ “M-Pass/ Easy Pass” มีความแตกต่างกันอย่างไร? 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

1. จุดเด่นระบบเก็บเงินค่าผ่านทางแบบ M-Flow

  • M-Flow คือระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไร้ไม้กั้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วนและมอเตอร์เวย์ โดยมีเทคโนโลยี AI ช่วยจัดเก็บค่าผ่านทางด้วยกล้องบันทึกป้ายทะเบียนรถ (แบบ Video Tolling)
  • ระบบเก็บค่าผ่านทางนี้ทำให้รถไม่ต้องหยุดหรือชะลอ ช่วยระบายรถได้เร็วขึ้นกว่าระบบเดิมถึง 5 เท่า (ประมาณ 2,000-2,500 คัน/ชั่วโมง) 
  • รถทุกประเภทสามารถใช้งานได้ (ที่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนทางหลวงพิเศษ) ทั้ง 4 ล้อ 6 ล้อ และมากกว่า 6 ล้อขึ้นไป
  • สามารถชำระค่าธรรมเนียมได้หลากหลาย หลังใช้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางเว็บไซต์ ทางโมบายแอปพลิเคชั่นของระบบ M-Flow  ทาง QR Code หรือผ่านระบบตัดเงินอัตโนมัติได้  
  • ให้ความปลอดภัยในเรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคม ลดการใช้เงินสด และการเสี่ยงสัมผัสเชื้อไวรัสโควิด-19
  • สามารถใช้ M-Flow ได้บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 9 (วงแหวนบางปะอิน-บางพลี) มี 4 ด่านดังนี้ ด่านธัญบุรี 1, ด่านธัญบุรี 2, ด่านทับช้าง 1 และด่านทับช้าง 2

ส่องระบบเก็บเงินค่าผ่านทาง “M-Flow” ต่างกับ “M-PASS/ Easy Pass” อย่างไร?

2. จุดเด่นระบบเก็บเงินค่าผ่านทางแบบ M-Pass/ Easy-Pass

  • M-Pass เป็นระบบเก็บเงินค่าผ่านทางอัตโนมัติของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ที่กรมทางหลวงนำมาลดปัญหาการจราจรติดขัดตรงหน้าด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียม โดยมีระบบไม้กั้นตรงช่องเก็บเงิน 
  • ต้องชะลอความเร็ว หรือจอดรถ เพื่อทำธุรกรรมการเงินให้เรียบร้อยก่อน ไม้กั้นจึงจะเปิดให้ผ่านทางไปได้ 
  • รองรับเฉพาะรถยนต์ 4 ล้อ และต้องใช้แท๊กติดกับรถเพื่อส่งสัญญาณ แต่บางครั้งสัญญาณก็ขัดข้องได้
  • ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดูแลในการกระจายบัตร เติมเงิน ดูแลบัญชี และธุรกรรมด้านการเงินอื่นๆ
  • ต้องชำระเงินล่วงหน้า โดยชำระเงินได้เพียงแค่รูปแบบเดียวเท่านั้น
  • บัตร M-Pass สามารถใช้เดินทางและซื้อสินค้า-บริการต่างๆ ได้ เช่น ค่าผ่านทาง, การทำธุรกรรมการเงินผ่าน ATM (e-Money), ใช้ซื้อสินค้าที่มีสัญลักษณ์ VISA ได้ทั่วประเทศ, เติมเงินฟรีทุกช่องทางของธนาคารกรุงไทย ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม, ฟรีค่าธรรมเนียมในการขอสรุปรายการ Statement, แจ้งข่าวสารผ่าน SMS ฟรี เมื่อเงินในบัตรน้อยกว่า 200 บาท และ 60 บาท 
  • สามารถใช้ M-Pass ได้บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์), ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี), ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก: บางปะอิน-บางนา) และทางด่วนทุกเส้นทาง

หมายเหตุ

  • ผู้ที่เป็นสมาชิก M-Flow ต้องใช้ช่องขวาสุด ซึ่งรถสามารถวิ่งผ่านได้เลย
  • ผู้ที่ใช้ M-Pass หรือ Easy Pass จะต้องใช้ช่องกลาง
  • ผู้ที่ใช้เงินสด ต้องใช้ช่องซ้ายสุด 

-------------------------------

อ้างอิง: M-Flow Thai