เปิดใช้สะพานพระราม 6 ปกติ หลังปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด

เปิดใช้สะพานพระราม 6 ปกติ หลังปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด

การรถไฟฯ ประกาศเปิดใช้งานสะพานพระราม 6 ได้ตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.65 เป็นต้นไป หลังเข้าปรับปรุงโครงสร้างด้านวิศวกรรมทุกจุดให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด ทำให้ขบวนรถในเส้นทางสายใต้กลับมาใช้สถานีต้นทาง-ปลายทาง ได้ตามเดิม

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้ประกาศปิดเส้นทางรถไฟช่วงระหว่างสถานีบางซื่อ-บางบำหรุ เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างสะพานพระราม 6  โดยให้กิจการร่วมค้าไอทีดี เออาร์ซี ซึ่งเป็นผู้รับเหมาที่รับผิดชอบโครงการงานปรับปรุงเสริมความมั่นคงของสะพานพระราม 6 เข้าดำเนินการปรับปรุงจุดโครงสร้างกลางสะพาน บริเวณสะพานเหล็กตัวที่ 3 ฝั่งกรุงเทพฯ 1 จุด รวมทั้งทำการตรวจสอบโครงสร้างสะพานในด้านวิศวกรรมทั้งหมด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อขบวนรถและประชาชนผู้ใช้บริการ 

ล่าสุดได้รับรายงานว่า ได้มีการดำเนินการปรับปรุงสะพานพระราม 6 เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว และพร้อมกลับมาเปิด ให้บริการเดินรถได้ตามปกติอีกครั้ง ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นี้ เป็นต้นไป ซึ่งส่งผลให้เส้นทางเดินรถสายใต้ทุกเส้นทาง กลับมาให้บริการตามสถานีต้นทาง-ปลายทางเดิม รวมทั้งให้บริการรับ-ส่งสินค้าห่อวัตถุ สัมภาระ และรถจักรยานยนต์ สำหรับเส้นทางสายใต้ ได้ตามปกติได้ที่สถานีกรุงเทพ สามเสน บางซื่อ  

สำหรับขบวนรถไฟสายใต้ที่กลับมาให้บริการ สถานีต้นทาง-ปลายทางเดิม มีทั้งสิ้น 16 ขบวน ดังนี้ 

เที่ยวไป

• ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 43 กรุงเทพ – สุราษฎร์ธานี 
• ขบวนรถธรรมดาที่ 261 กรุงเทพ – หัวหิน 
• ขบวนรถเร็วที่ 171 กรุงเทพ – สุไหงโกลก 
• ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ที่ 31 กรุงเทพ – ชุมทางหาดใหญ่ 
• ขบวนรถชานเมืองที่ 355 กรุงเทพ – หนองปลาดุก 
• ขบวนรถด่วนที่ 83 กรุงเทพ – ตรัง 
• ขบวนรถด่วนที่ 85 กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช 
• ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 39 กรุงเทพ – สุราษฎร์ธานี 

เที่ยวกลับ

• ขบวนรถชานเมืองที่ 356 หนองปลาดุก – กรุงเทพ 
• ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 40 สุราษฎร์ธานี – กรุงเทพ 
• ขบวนรถเร็วที่ 172 สุไหงโกลก – กรุงเทพ 
• ขบวนรถธรรมดาที่ 262 หัวหิน – กรุงเทพ 
• ขบวนรถด่วนที่ 86 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ 
• ขบวนรถด่วนที่ 84 ตรัง – กรุงเทพ 
• ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ที่ 32 ชุมทางหาดใหญ่ – กรุงเทพ 
• ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 44 สุราษฎร์ธานี – กรุงเทพ 
 

นายเอกรัชกล่าวว่า การดำเนินโครงการงานปรับปรุงเสริมความมั่นคงของสะพานพระราม 6  ถือเป็นโครงการที่การรถไฟฯ ให้ความสำคัญในการยกระดับการดูแลความปลอดภัยในการให้บริการแก่ผู้โดยสาร เนื่องจากสะพานพระราม 6 เป็นสะพานรถไฟที่มีรถสายใต้ทุกขบวนวิ่งผ่านเป็นประจำทุกวัน จึงจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษา และดูแลตรวจสอบความปลอดภัยในด้านวิศวกรรมของโครงสร้างสะพานให้ครบทุกด้านอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้โดยสารที่มีความประสงค์จะใช้บริการรถไฟสายใต้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมการเดินรถได้ที่ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ โทรศัพท์สายด่วน 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดตามข่าวสารได้ที่ เฟซบุ๊คเพจทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย