"นักท่องเที่ยว" ต้องรู้ 8 ข้อเตรียมพร้อมก่อนขึ้นเขา ขึ้นอย่างไรให้ปลอดภัย

"นักท่องเที่ยว" ต้องรู้ 8 ข้อเตรียมพร้อมก่อนขึ้นเขา ขึ้นอย่างไรให้ปลอดภัย

"นักท่องเที่ยว" ต้องรู้ 8 ข้อเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นเขา ขึ้นอย่างไรให้ปลอดภัย สำคัญมาก พร้อมเผยสถิติสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่เกิดเหตุมากที่สุด

วันนี้ 15 กุมภาพันธ์ 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนหรือ "นักท่องเที่ยว" นิยมท่องเที่ยวตามธรรมชาติมากขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวขึ้นเขาตามป่าเขา หรือเดินทางไปไหว้สักการะเสริมสิริมงคลตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์บนภูเขาสูงต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุพลัดตกเข้าได้

 

 

สถานการณ์การอุบัติเหตุ "นักท่องเที่ยว" พลัดตกหน้าผาในประเทศไทย จากการเฝ้าระวังข่าวจากสื่อ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2564) เกิดเหตุ 43 ครั้ง (พบผู้บาดเจ็บ 20 ราย , เสียชีวิต 23 ราย) ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเดินป่า ร้อยละ 83

 

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่เกิดเหตุมากที่สุด คือ หน้าผาสูง (ร้อยละ 61) หน้าผาน้ำตก (ร้อยละ 24) และจุดชมวิว (ร้อยละ 7) สาเหตุเกิดจากการลื่นไถล ก้าวพลาด และสะดุดก้อนหิน เป็นต้น

 

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมตัวก่อนเดินทางท่องเที่ยวภูเขาและยอดดอยให้ปลอดภัย โดยขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ "พิชิตเขา เราปลอดภัย" ดังนี้

 

  1. เตรียมสภาพร่างกายให้แข็งแรง แต่งกายเหมาะสมรัดกุมเพื่อป้องกันแมลง พืช หรือสัตว์มีพิษ และพกอุปกรณ์ที่จำเป็นในการขึ้นเขา
  2. จองหรือลงทะเบียนสถานที่ท่องเที่ยวล่วงหน้าก่อนการเดินทาง
  3. เตรียมน้ำ อาหารที่ไม่สร้างขยะและยาประจำตัวให้พร้อม
  4. สังเกตป้ายเตือน และปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่ท่องเที่ยว อย่างเคร่งครัด
  5. ไม่เข้าพื้นที่จุดเสี่ยงอันตราย และออกนอกเส้นทาง
  6. หลีกเลี่ยงถ่ายรูปบริเวณริมหน้าผา หรือจุดชมวิวที่ไม่มีที่กั้น
  7. ควรมีเจ้าหน้าหรือไกด์นำทางไปด้วย ป้องกันการหลงทาง
  8. คำนึงถึงเวลา สภาพอากาศ ไม่กลับลงมาค่ำมืด เพื่อความปลอดภัย

 

 

นอกจากนี้ขอให้ประชาชนและ "นักท่องเที่ยว" ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เมื่อออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากอนามัย 100% รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัดหรือสถานที่เสี่ยงต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองป้องกันการบาดเจ็บ โทร 02 590 3955 หรือติดตามข่าวสาร ความรู้ต่างๆ และสามารถสมัครเป็นเพื่อนได้ที่ไลน์ @DIPGunlom (แอดไลน์ดีไอพีกันล้ม) หรือติดตาม Facebook Fanpage : กองป้องกันการบาดเจ็บ

 

ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค