"โรคขี้เต็มท้อง" เช็คสาเหตุการเกิด - พฤติกรรมแบบไหนเสี่ยง

"โรคขี้เต็มท้อง" เช็คสาเหตุการเกิด - พฤติกรรมแบบไหนเสี่ยง

"โรคขี้เต็มท้อง" เช็คสาเหตุการเกิด - พฤติกรรมแบบไหนเสี่ยงภาวะอุจจาระอุดตัน พร้อมข้อปฏิบัติง่ายๆ ฝึกการขับถ่าย

จากกรณี ตุ๊กตา จมาพร นักร้องสาวจากเวที The Voice ที่ออกมาแชร์อุทาหรณ์หลังป่วยด้วย "โรคขี้เต็มท้อง" โดยเธอเล่าว่าสาเหตุของการเกิดโรคนี้มาจากที่เธอชอบอั้นอุจจาระ นั่งถ่ายผิดท่า จนเริ่มมีอาการคลื่นไส้ แน่นท้อง และอยากอาเจียนตลอดเวลา

 

 

วันนี้ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จัก "โรคขี้เต็มท้อง" หรือ "ภาวะอุจจาระอุดตัน"

 

โรคขี้เต็มท้อง หรือภาวะอุจจาระอุดตันคือ ภาวะที่อุจจาระแห้ง และอุดตันบริเวณลำไส้ตรงจนไม่สามารถผ่านออกมาได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาท้องผูกหรือท้องผูกเป็นเวลานาน

 

อาการของโรคขี้เต็มท้อง

 

  • ท้องผูก
  • เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้องแบบบีบๆ
  • หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ทั่วท้อง
  • มีลมในท้องเยอะผิดปกติ ตดเปรี้ยว เรอเปรี้ยว
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ ไม่สบายท้อง
  • อุจจาระก้อนเล็ก แข็ง บางครั้งมีมูกเลือดปนออกมาด้วย 
  • เมื่ออุจจาระแล้วจะรู้สึกว่ายังไม่สุดต้องนั่งนานกว่าปกติ หรือรู้สึกว่ามีอุจจาระยังคงเหลืออยู่ในท้อง

 

 

พฤติกรรมแบบไหนเสี่ยงเกิดโรคขี้เต็มท้อง

 

  • อั้นอุจจาระ หรืออุจจาระไม่เป็นเวลา
  • ดื่มน้ำน้อย
  • กินอาหารที่มีกากใยอาหารน้อย
  • กินอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และไขมันมากเกินไป
  • ลำไส้ทำงานผิดปกติ
  • ออกกำลังกายน้อย เคลื่อนไหวร่างกายน้อย ส่งผลต่อการทำงานของระบบขับถ่ายด้วย
  • ผลข้างเคียงจากการกินยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NARCOTICS , ยาลดกรด , ยากลุ่มธาตุเหล็กหรือ ยากลุ่ม CALCIUM CHANNEL BLOCKERS ซึ่งใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • โรคประจำตัวส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น โรคซึมเศร้า อัลไซเมอร์ ทำให้ขาดการดูแลอาหารการกินที่ดีต่อสุขภาพ


การฝึกพฤติกรรมการขับถ่าย - การนั่งถ่ายที่ถูกสุขลักษณะ

 

  • ฝึกถ่ายอุจจาระให้สม่ำเสมอและเป็นเวลา เพื่อให้ร่างกายและลำไส้เคยชิน เวลาขับถ่ายที่เชื่อว่าดีที่สุดคือ 05.00 น. ถึง 07.00 น.
  • ดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำอุณหภูมิปกติ 1 แก้วหลังตื่นนอนตอนเช้า น้ำอุ่นจะช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ช่วยกระตุ้นลำไส้ให้เคลื่อนตัวได้ดี ทำให้ขับถ่ายสะดวก
  • อย่าอั้นอุจจาระ เพราะอาจทำให้ลำไส้บีบอุจจาระกลับขึ้นไปที่ลำไส้ จนเกิดอุจจาระคั่งค้างที่ผนังลำไส้ได้
  • อย่าเบ่งอุจจาระแรงๆ ขณะที่ไม่ปวด เพราะจะกระตุ้นและเพิ่มแรงดันในลำไส้ จะเกิดผลเสียตามมาได้ หากทำบ่อยๆ อาจทำให้ลำไส้โป่งพองส่งผลต่อการเกิดริดสีดวงทวารได้
  • นั่งถ่ายอย่างถูกวิธี ท่านั่งที่เหมาะกับการขับถ่ายมากที่สุดคือ "นั่งยองๆ" เพราะจะมีแรงกดจากหน้าขาช่วยให้ขับถ่ายได้คล่องที่สุด แต่สำหรับชักโครก ท่านั่งที่ถูกต้องช่วยให้ขับถ่ายได้ดีขึ้นคือ "เอนตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย"

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์