เปิดเงื่อนไขรับสิทธิ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ปี 65

เปิดเงื่อนไขรับสิทธิ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ปี 65

"บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ปี 65 มีการปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ผู้ลงทะเบียนต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

ครม. มีมติเห็นชอบ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มตกหล่นให้สามารถเข้าถึงโครงการ คาดว่ามีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 20 ล้านคน (ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เดิมและผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิรายใหม่) สามารถเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยมีการปรับหลักเกณฑ์ของผู้ลงทะเบียนเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง คาดว่าจะเริ่มลงทะเบียนประมาณไตรมาสที่ 3 ของปี และสามารถเริ่มใช้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ซึ่งจะเป็นการใช้บัตรประชาชนแทนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

สำหรับคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน มีดังนี้

1. มีสัญชาติไทย มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

2. ไม่เป็นบุคคลดังต่อไปนี้ ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ฯ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา

3. รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี และรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี 

4. ทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝาก สลาก พันธบัตรและตราสารหนี้ภาครัฐ เดิม ทรัพย์สินทางการเงิน ไม่เกิน 100,000 บาท เปลี่ยนเป็น บุคคล (ต่อปี) และครอบครัว (เฉลี่ยต่อคนต่อปี) ทรัพย์สินทางการเงิน ไม่เกิน 100,000 บาท

5. ไม่มีวงเงินกู้ หรือ มีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์

  • วงเงินกู้บ้าน ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
  • วงเงินกู้รถ ไม่เกิน 1 ล้านบาท

6. ต้องไม่มีบัตรเครดิต

7. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือ มีกรรมสิทธิ์           ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้ (เดิม เกษตรกร มีที่ดิน ไม่เกิน 10 ไร่ ไม่ใช่เกษตรกร มีที่ดิน ไม่เกิน 1 ไร่ บ้าน ไม่เกิน 25 ตารางวา ห้องชุด ไม่เกิน 35 ตารางเมตร)

กรณีผู้ลงทะเบียนไม่มีครอบครัว

ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)

1. กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว

  • บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว ต้องมีพื้นที่     ไม่เกิน 25 ตารางวา
  • ห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

2. กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่

ที่ดินแยกออกจากที่อยู่อาศัย 

1. กรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตร ไม่เกิน 1 ไร่

2. กรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร ไม่เกิน 10 ไร่

 

กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว

ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)

1. กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว

  • กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดิน ที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
  • กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดินที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
  • กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
  • กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

2. กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่

ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย

1. ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่

2. ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่

ผู้ที่ได้รับสิทธิจะได้สวัสดิการ ดังนี้

  • วงเงิน 200 บาท /คน/เดือน สำหรับผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี และวงเงิน 300 บาท/คน/เดือน สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี
  • ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงตุ้ม วงเงิน 45 บาท/คน/3 เดือน
  • ค่าโดยสารรถ ขสมก. รถไฟฟ้าในวงเงิน 500 บาท/คน/เดือน
  • ค่าโดยสารรถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 500 บาท/คน/เดือน
  • ชำระค่ารถโดยสารไฟฟ้า 500 บาท/คน/เดือน

หน่วยงานรับลงทะเบียน

  1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
  2. ธนาคารออมสิน
  3. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  4. กรมบัญชีกลาง
  5. กระทรวงมหาดไทย (ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ)
  6. สำนักงานเขตกรุงเทพมหานาคร
  7. สำนักงานเมืองพัทยา หรือ ณ สถานที่ที่หน่วยงานรับลงทะเบียนกำหนด
  8. ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์โครงการกำหนด
  9. เปิดจุดลงทะเบียน walk in – ออนไลน์

โดยให้คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) เป็นผู้ช่วยประสานงานการลงทะเบียนรอบใหม่ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจในการลงทะเบียนรอบใหม่ และสามารถประสานงานสำหรับการลงทะเบียนในต่างจังหวัดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้บัตรสวัสดิการฯ และปัญหาผู้มีบัตรฯ ที่ไม่ควรได้รับสิทธิ 

ทั้งนี้ จะมีการเปิดรับลงทะเบียนตามโครงการฯ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และ จะมีการดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและตรวจสอบข้อมูลของผู้ลงทะเบียนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อีกด้วย