อ่วม! "โควิด-19" รอบใหม่ จ.ตรัง พบคลัสเตอร์ใหม่ในสถานศึกษาและโรงมโนราห์

สถานการณ์ COVID-19 พบคลัสเตอร์ใหม่ในสถานศึกษาและจากโรงมโนราห์ พร้อมติดตามการแพร่ระบาดของโควิด 19 จากแคมป์คนงานก่อสร้าง หลังจากมีข้อมูลว่าหลายแห่งไม่ให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 65 นายแพทย์ ตุลกานต์ มักคุ้น นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลตรัง ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง พร้อมด้วยแพทย์หญิงทิพย์ลดา บุญชัย นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลตรัง ในฐานะรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง ร่วมแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ ศูนย์แถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส 2019 จังหวัดตรัง ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดตรัง

ทั้งนี้ โฆษก ศบค.ได้กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนจุฬาภรณ์วิทยาลัยตรัง ซึ่งสถานศึกษาได้เปิดเรียนเดือนครึ่งหลังจากนั้นได้อนุญาตให้นักเรียนชั้น ม.1 กลับบ้าน ในวันศุกร์ที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา และกลับเข้าหอพักในวันที่ 22 มกราคม โดยก่อนเข้าหอพักตรวจแบบ ATK เป็นลบทุกคน ต่อมาในวันที่ 25 มกราคมผู้ปกครองนักเรียน ม.1/1 โทรมาแจ้งว่าตัวผู้ปกครองตรวจพบเชื้อโควิด 19 ด้วยวิธีการตรวจ ATK ทางโรงเรียนจึงได้ประสานไปยัง รพสต.บางรัก ทำการตรวจคัดกรองนักเรียนกลุ่มเสี่ยง พบว่านักเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมีผลเป็นบวกและมีอาการตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม โดยเป็นนักเรียนในห้อง ม.1/1 พักที่หอพักชายชั้น 3 ปีกซ้ายมือ ทาง รพสต. บางรักได้ตรวจสอบพบว่ามีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงที่พักห้องเดียวกัน นอนห้องเดียวกัน ทานอาหารร่วมกัน จำนวน 20 คน โดยได้มีการกักตัวเองไว้ ก่อนกักตัวมีการตรวจ ATK พบว่าเป็นลบ

ส่วนกลุ่มเสียงต่ำที่เรียนร่วมกัน พักหอพักเดียวกันแต่อยู่คนละฝั่ง จำนวน 11 คน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน ได้ทำการตรวจ ATK ผลออกมาเป็นลบทุกคน ต่อมาหลังจากการกักตัวพบผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสร่วมกัน จำนวน 4 ราย โดยรายที่ 2 เรียนและนอนห้องเดียวกันกับผู้ป่วยรายแรก เริ่มมีอาการ 26 มกราคม ตรวจ ATK ที่ LQ มีผลบวก รายที่ 3 เป็นเพื่อนเรียน ม.1/2 สนิทกับผู้ป่วยรายแรก มานอนเล่นด้วยกันรับประทานอาหารร่วมกัน มีอาการวันที่ 25 มกราคม ผู้ปกครองมารับตัวกลับรักษาตัวแบบ Home Isolation รายที่ 4 เรียนและนอนห้องเดียวกับผู้ป่วยรายแรก มีการตรวจ ATK ที่ LQ เมื่อวันที่ 30 มกราคม มีผลบวก เช่นเดียวกับรายที่ 5 เรียนและนอนห้องเดียวกันกับผู้ป่วยรายแรก ไม่มีอาการแต่การตรวจ ATK ก่อนออกจาก LQ เป็นผลบวก ซึ่งการสัมผัสเชื้อได้สิ้นสุดลงแล้ว การควบคุมโรคครบเวลาตามมาตรการ ศบค.กลางแล้ว ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาด้วยยา Favipiravir ซึ่งส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจะแยกกักภายในเวลา 7 วัน

ในส่วนโรงเรียนตรังคริสเตียนศึกษาชั้น ม. 3/3 ทั้งหมด 27 คน เป็นผลบวกจำนวน 19 ราย เข้ารักษาที่โรงพยาบาลTRPS จำนวน 18 ราย และรักษาที่ Home Isolation จำนวน 1ราย โดยผู้ติดเชื้อในครอบครัวตรวจเพิ่มติดอีก 2 ครอบครัว ครอบครัวละ 2 ราย ซึ่งในขณะนี้โรงเรียนตรังคริสเตียนไม่มีการระบาดของเชื้อออกนอกห้อง แต่เพื่อความปลอดภัยโรงเรียนได้ปิดดำเนินการแบบออนไซด์ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ส่วนนักศึกษาพยาบาลปีที่ 3 มีโรคประจำตัวเป็นภูมิแพ้ มีประวัติช่วยบริการวัคซีนที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ มีอาการไอซื้อยากินเอง ในวันที่ 24 มกราคมก่อนขึ้นหอผู้ป่วยมีอาการไอจึงตรวจ ATK พบเป็นผลบวกทั้ง 3 ครั้ง พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด 19 ราย ซึ่งได้มีการแยกกักตัวไว้แล้ว

นอกจากนั้น โฆษก ศบค.ตรัง ยังกล่าวว่าในส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่จะฉีดให้กับเด็กเป็นขนาด 10 ไมโครกรัม โดยความเข้มข้นอยู่ที่ 0.2 ซีซี เป็นฝาสีส้ม จังหวัดตรังได้รับจัดสรรมาแล้ว 2,910โด๊ส ฉีดในเด็กที่มี 7โรคเรื้อรัง อ้วน โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต ซึ่งจะเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ ถ้าเป็นเด็กปกติจะฉีดตามระบบโรงเรียน ส่วนผลข้างเคียงในการฉีดวัคซีนในเด็กครบ 24 โมง ยังไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง มีอาการไข้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อเล็กน้อย

ทั้งนี้การป้องกันโควิด 19 ต้องป้องกันตั้งแต่ที่บ้านถ้ามาจากต่างจังหวัดต้องแยกกันรับประทานอาหาร การสวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการเล่นในชุมชน หลักเลี่ยงการรับประทานอาหารกับเด็กในชุมชน เมื่อมาโรงเรียนก็จะต้องเป็นหน้าที่ของครู

ในส่วนของชาวไทยโฟร์แมนที่เป็นคนควบคุมคนงานผู้ที่มาอยู่ในจังหวัดตรังทั้งหมดถือว่าเป็นคนตรังทั้งหมดทุกคนต้องได้รับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างด้าว สามารถติดต่อฉีดวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านท่าน ไม่ว่าจะเป็น รพสต. โรงพยาบาลชุมชน หรือ โรงพยาบาลตรัง จึงขอให้ผู้ประกอบการ ผุ้คุมคนงานติดต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน