พบเด็กติดโควิดแล้วกว่า 3 หมื่นราย คลัสเตอร์สถานศึกษาจากการทำกิจกรรม

พบเด็กติดโควิดแล้วกว่า 3 หมื่นราย คลัสเตอร์สถานศึกษาจากการทำกิจกรรม

เผยตลอดเดือนม.ค.เด็กติดโควิด-19 แล้วกว่า 3 หมื่นราย ย้ำอาการไม่รุนแรง ขณะที่สถานการณ์ติดเชื้อในสถานศึกษา พบเป็น กลุ่มก้อนจากการทำกิจกรรม ขณะที่ยอดฉีดวัคซีนเด็กเข็ม 1 และเข็ม 2 กว่า 80% ย้ำมาตรการ 6-6-7 ป้องกันโควิดในสถานศึกษา

วันนี้ (2 ก.พ.2565) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย จัดแถลงข่าว “วัคซีนเด็ก เติมภูมิคุ้มกัน มั่นใจเปิดเรียน On Site พร้อมใช้แผนเผชิญเหตุทุกสถานการณ์”

  • เด็กติดเชื้อตลอด ม.ค.65 กว่า 3 หมื่นราย

นพ.สราวุฒิ บุญสม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ขณะนี้ พบว่ามีการติดเชื้อในกลุ่มของเด็กจำนวนมากขึ้น โดยเด็กในกลุ่มอายุ 0-19 ปี จะติดเชื้อประมาณ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นอายุ 13-19 ปี จะมีผู้ติดเชื้อ ประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ อายุ 7-12 ปี ติดเชื้อประมาณ 8-9 เปอร์เซ็นต์ โดยเมื่อพิจารณาการแพร่ระบาดระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-1 ก.พ.2565 พบผู้ติดเชื้อในเด็กอายุ 0-19 ปี จำนวน 39,342 ราย  ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนความรุนแรง อัตราการเสียชีวิต พบว่าค่อนข้างลดลง

 

  • ติดเชื้อในสถานศึกษาพบแบบกลุ่มก้อน

สำหรับการติดเชื้อในสถานศึกษา พบว่า แต่ละโรงเรียนที่พบรายงานการติดเชื้อแบบคลัสเตอร์ หรือกลุ่มก้อน ซึ่งทุกโรงเรียนมีการกำหนดมาตรการเข้มงวด มีบุคลากรฉีดวัคซีนค่อนข้างครบถ้วนแต่ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ มักจะมาจากการจัดกิจกรรม มีการรวมกลุ่ม เช่น การแข่งขันกีฬา ปัจฉิมนิเทศ เป็นต้น

 ดังนั้น อยากเน้นย้ำทุกโรงเรียนควรสวมหน้ากากตลอดเวลา โดยเฉพาะหากมีการรวมกลุ่ม ควรปฎิบัติตาม Bubble&Seal และโรงเรียนประจำเน้น Sandbox  safety Zone in school  ซึ่งสามารถควบคุมได้หากมีการติดเชื้อ และใช้แผนเผชิญเหตุได้  

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี พบว่า มีนักเรียน นักศึกษาที่อายุเข้าเกณฑ์ 5,171,759 คน ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 4,584,900 คน หรือ 88.65% เข็มที่ 2 จำนวน 4,142,086 คน หรือ 80.09%

นพ.สราวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ขอให้สถานศึกษาดำเนินการมาตรการ 6-6-7 หรือ

6 มาตรการหลัก คือ 1. เว้นระยะห่าง 2.สวมหน้ากาก 3.ล้างมือ 4.คัดกรองวัดไข้ 5.ลดการแออัด 6.ทำความสะอาด  

 6 มาตรการเสริม ได้แก่ 1.ดูแลตนเอง 2.ใช้ช้อนกลางส่วนตัว 3.กินอาหารปรุงสุกใหม่ 4.ลงทะเบียนเข้า-ออก 5.สำรวจตรวจสอบ 6.กักกันตัวเอง 

 7 มาตรการเข้มงวด ดังนี้  1.ประเมิน TSC+  2.Small Bubble หรือทำกิจกรรมแบบกลุ่มย่อย 3.อาหาร 4.อนามัยสิ่งแวดล้อม 5.School Isolation มีแผนเผชิญเหตุและซักซ้อมอย่างเคร่งครัด 6.Seal Route ดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน และ7.School Pass สำหรับทุกคนในสถานศึกษา รวมทั้งต้องมีแนวทางการเฝ้าระวัง และแผนเผชิญเหตุ

 

  • เด็กภูมิคุ้มกันดี ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง

นพ.โอภาส  การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทางสธ.จะเน้นวินิจฉัย รักษาและควบคุม แต่การดำรงชีวิตต้องขึ้นร่วมกับทุกคน อย่ากังวลเพียงตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน ในมุมมองของตน เด็กติดเชื้อโควิด จะไม่ได้เป็นประเด็น แต่อาจจะทำให้เป็นผู้กระจายเชื้อไปสู่ผู้ปกครอง หรือผู้สูงอายุในบ้านซึ่งไม่อยากให้เป็นแบบนั้น

อย่างไรก็ตาม เด็กมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดีเมื่อติดเชื้ออาจจะไม่มีอาการรุนแรง และขณะนี้เชื้อมีการกลายพันธุ์และสามารถทำให้เชื้ออยู่ต่อไป ดังนั้น สุดท้ายจะอยู่ในจุดสมดุล คนมีภูมิต้านทาน อัตราเสียชีวิตน้อย เชื้อไม่รุนแรง และคาดเดาสถานการณ์ได้ ซึ่งต่อไป โควิด-19 อาจเป็นโรคประจำถิ่น

ทั้งนี้ สำหรับการฉีดวัคซีนที่ทั่วโลกอนุญาตใช้ในเด็กมี 2 ชนิด คือ ไฟเซอร์ ซึ่งอเมริกา และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ให้อนุญาตให้ฉีด ซึ่งวัคซีนที่ได้รับการอนุญาตจะคำนึงถึงประสิทธิภาพ ส่วนวัคซีนเชื้อตาย เชื่อว่าวัคซีนมีความปลอดภัยสูง

  • อัพเดทแนวทางฉีดวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปี

นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า แนวทางการบริหารจัดการวัคซีน สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี มีดังนี้ บริษัทผู้ผลิตแจ้งแผนการส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี (ฝาสีส้ม) ให้ประเทศไทย สัปดาห์ละ 3 แสนโดส สธ.จะจัดสรรวัคซีนเพื่อให้บริการฉีดวัควีนผ่านระบบสาธารณสุข โดยจัดสรรให้เป็นสัดส่วนเดียวกันของจำนวนประชากรกลุ่มเป้าหมายทุกจังหวัด ซึ่งทุกจังหวัดและกรุงเทพฯ ฉีดวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรให้เด็กนักเเรียนชั้นป.6 ที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงฉีดวัคซีนให้แก่เด็กป.5 และชั้นปีอื่นๆ ถัดไปตามลำดับถึงชั้นป.1

นอกจากนั้น ขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อพิจารณาเพิ่มปริมาณการส่งมอบวัคซีนรายสัปดาห์ และ อย.อยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนแวค สำหรับฉีดในเด็กอายุ 3-17 ปี เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเข้ารับวัคซีนในเด็กต่อไป

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์