"คดีเพชรซาอุ" ย้อนรอยจอมโจรบันลือโลก ทำไทย-ซาอุฯร้าว 30 ปีก่อนฟื้นสัมพันธ์

"คดีเพชรซาอุ" ย้อนรอยจอมโจรบันลือโลก ทำไทย-ซาอุฯร้าว 30 ปีก่อนฟื้นสัมพันธ์

"คดีเพชรซาอุ" ย้อนรอยวีรกรรม "เกรียงไกร" จอมโจรบันลือโลก ทำไทย - ซาอุดิอาระเบีย ร้าวฉานนานกว่า 30 ปีก่อนฟื้นความสัมพันธ์

จากคดีดังขโมย "คดีเพชรซาอุ" ซึ่งผู้ที่ก่อเหตุคือ "เกรียงไกร เตชะโม่ง" จอมโจรบันลือโลก แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในพระราชวังของกษัตริย์ซาอุดิอาระเบีย ได้ขโมยเครื่องเพชรของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย ในปี 2532 จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯและไทยเสื่อมลงเป็นเวลามากกว่า 30 ปี

 

\"คดีเพชรซาอุ\" ย้อนรอยจอมโจรบันลือโลก ทำไทย-ซาอุฯร้าว 30 ปีก่อนฟื้นสัมพันธ์

 

 

การขโมย "คดีเพชรซาอุ" ของราชวงศ์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบีย มีจุดเริ่มต้นจากการที่นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ซึ่งเป็นแรงงานไทยที่ได้เดินทางไปทำงานยังประเทศซาอุดิอาระเบีย และถูกจัดให้เข้าไปทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดภายในพระราชวังของกษัตริย์ซาอุดิอาระเบีย เขาเริ่มการโจรกรรมในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2532 

 

เมื่อนายเกรียงไกรเมื่อเข้าไปทำงานในพระราชวังจึงได้เห็นช่องทางในการขโมยเครื่องเพชรดังกล่าว เพราะเครื่องเพชรเหล่านั้นมีจำนวนมากและถูกวางไว้อย่างไม่เป็นที่เป็นทาง แม้แต่ตู้เซฟก็ยังถูกเปิดทิ้งเอาไว้

 

เกรียงไกรอาศัยช่วงเวลาที่เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด บิน อับดุล อซิซ (Prince Faisal Bin Fahud Bin Abdul Aziz) แปรพระราชฐานไปพักผ่อนในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในเดือนธันวาคม 2532 ทำการขโมยเครื่องเพชร 91 กิโลกรัม (200 ปอนด์) ซึ่งรวมไปถึงเพชรน้ำเงินกับอัญมณีอื่นๆ รวม 50 กะรัต

 

โดยเกรียงไกรแอบนำถุงกระสอบขนาดใหญ่เข้าไปในพระราชวัง ซ่อนตัวอยู่ภายในพระราชวังจนถึงเวลากลางคืน แล้วจึงทำการขโมยเครื่องเพชรใส่ถุงกระสอบแล้วโยนถุงกระสอบลงมาออกนอกกำแพงพระราชวัง 

 

\"คดีเพชรซาอุ\" ย้อนรอยจอมโจรบันลือโลก ทำไทย-ซาอุฯร้าว 30 ปีก่อนฟื้นสัมพันธ์

 

 

เมื่อได้เครื่องเพชรซาอุมาแล้ว นายเกรียงไกรใช้วิธีส่งเครื่องเพชรกลับมายังประเทศไทยล่วงหน้า ด้วยบริการขนส่งพัสดุทางอากาศ โดยปะปนกับเสื้อผ้าและเครื่องใช้ส่วนตัว ซึ่งด่านศุลกากรของทั้งสองประเทศไม่สามารถตรวจพบ เมื่อทำการโจรกรรมเรียบร้อยแล้วเกรียงไกรได้เดินทางกลับประเทศไทยทันที ก่อนที่เจ้าชายไฟซาลจะเสด็จกลับมายังพระราชวัง ทั้งที่เหลือเวลาทำงานตามสัญญาอีก 2 เดือน

 

เครื่องเพชรดังกล่าวถูกนำมายังจังหวัดลำปาง เนื่องจากเครื่องเพชรเหล่านั้นแยกยาก นายเกรียงไกรจึงขายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย โดยเครื่องเพชรส่วนใหญ่ถูกขายให้กับช่างทำเพชรพลอยชาวกรุงเทพ "สันติ ศรีธนะขัณฑ์" หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ประสานมายังรัฐบาลไทย ขอให้ติดตามเครื่องเพชรประจำราชวงศ์ส่งคืน

 

การสืบสวนจับกุมผู้ต้องหา

 

พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อธิบดีกรมตำรวจ มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบพื้นที่ในเขตภาคเหนือ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ออกติดตามเครื่องเพชรคืนให้แก่รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย หลังจากนั้นเมื่อนายเกรียงไกรก็ถูกชุดสืบสวนของ พล.ต.ท.ชลอ จับกุมและนำตัวมาสอบสวนจนยอมรับสารภาพ และให้การซัดทอดถึงบุคคลที่รับซื้อเครื่องเพชรไป เพราะเกรียงไกรเกรงว่าจะถูกจับส่งไปดำเนินคดีที่ซาอุฯ ซึ่งมีโทษเพียงสถานเดียวคือ "แขวนคอ" ทำให้ศาลพิพากษาตัดสินจำคุกนายเกรียงไกร เตชะโม่ง ในข้อหาลักทรัพย์ 7 ปี (แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษเหลือ 3 ปี 6 เดือน)

 

ทางการไทยส่งตัวแทนไปคืนเครื่องเพชร แต่ทางการซาอุดีอาระเบียพบว่า เพชร "บลูไดมอนด์" ได้หายไป และเครื่องเพชรประมาณครึ่งหนึ่งที่ส่งคืนนั้นเป็นของปลอมอีกด้วย

 

นอกจากนี้มีข่าวลือในสื่อไทยว่าภาพถ่ายในงานเลี้ยงการกุศลพบว่าภรรยาของข้าราชการหลายคนสวมสร้อยคอเพชรที่คล้ายกับเครื่องเพชรที่ถูกโจรกรรมจากซาอุดีอาระเบีย ทำให้ซาอุดีอาระเบียสงสัยว่าตำรวจไทยยักยอกเครื่องเพชรเอาไว้เอง


การตามหาเครื่องเพชรของจริง และคดีฆ่าชาวซาอุ

 

การย้อนรอยตามหาเพชรซาอุ โดยคณะทำงานของ พล.ต.ท.ชลอ เริ่มต้นที่กลุ่มญาติของ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อ.ตร. แต่ภายหลังเมื่อมีการตรวจสอบไม่พบว่ามีมูลความจริง นอกจากนี้ นักการเมือง ตลอดจนคุณหญิง คุณนาย และคนมีสีหลายคนก็ถูกกล่าวหาว่ามีการจัด "ปาร์ตี้เพชรซาอุฯ" ในสโมสรแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้นนายโมฮัมหมัด ซาอิค โคจา อุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ได้ว่าจ้างชุดสืบสวนพิเศษเพื่อแกะรอยอย่างลับๆ ในการตามหาเครื่องเพชรราชวงศ์แห่งซาอุดิอาระเบีย

 

Mohammad al-Ruwaili นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียที่ใกล้ชิดกับราชวงศ์ซะอูด เดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อสืบสวนด้วยตนเอง เขาได้หายสาบสูญไปในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2533 และสันนิษฐานว่าถูกฆ่า ก่อนเขาหายตัวไป 

 

นักการทูตชาวซาอุดีอาระเบียถูกฆ่าในย่านสีลม เขตบางรัก ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 มีนักการทูตชาวซาอุดีอาระเบียเสียชีวิตเพิ่มอีก 3 คนในย่านยานนาวา ซึ่งคดีเหล่านี้ยังไม่ได้ข้อยุติมาจนปัจจุบัน

 

ถึงแม้ไม่มีความเชื่อมโยงว่ารัฐบาลไทยเกี่ยวข้องกับการโจรกรรมเครื่องเพชร แต่ทางการซาอุดีอาระเบียเชื่อว่ารัฐบาลไทยดำเนินการไม่เพียงพอในการไขปริศนาเกี่ยวกับการฆ่านักการทูตซาอุดีอาระเบีย

 

มีสมมติฐานหลายประการเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆ่าดังกล่าว โมฮัมเหม็ด ซาอิด โคจา (Mohammed Said Khoja) นักการทูตชาวซาอุดีอาระเบีย เชื่อว่ามีนายตำรวจ 18 นายเกี่ยวข้องกับการหายไปของเพชร และเชื่อว่าตำรวจเป็นผู้ลงมือฆ่านักการทูตชาวซาอุดีอาระเบีย 3 คน

 

ด้านบันทึกการทูตในปี 2553 จากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยที่เผยแพร่โดยวิกิลีกส์ระบุว่า การฆ่าดังกล่าวแทบแน่นอนว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบาดหมางระหว่างซาอุดีอาระเบียกับกลุ่มติดอาวุธเลบานอนฮิซบุลลอฮ์

 

บทสัมภาษณ์ในเวลาต่อมา เกรียงไกร ไม่สามารถระบุได้ว่าเพชรบลูไดมอนด์ขณะนี้อยู่ที่ใด และเผยว่า "ถ้าเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในประเทศไทย เรื่องก็จะไม่ใหญ่ขนาดนี้"

 

จากนั้น พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ กลับมาทำคดีนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ได้ทุกวิถีทางในการนำเพชรที่เหลือกลับคืนมาให้ได้ จากคำให้การของนายเกรียงไกรที่บอกว่า ได้โจรกรรมเครื่องเพชรของเจ้าชายไฟซาล แล้วนำเข้ามาขายในประเทศไทย โดยขายให้สันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชร แต่เขายืนยันว่าคืนให้หมดแล้ว ในปี 2537 ชุดปฏิบัติงานของตำรวจลักพาตัวภรรยาและลูกของสันติเพื่อบีบให้เขาคืนเพชรให้ จนสุดท้ายฆ่าปิดปากทั้งสองโดยจัดฉากให้ดูเหมือนอุบัติเหตุจราจร

 

ต่อมาทีมสอบสวนชุดใหม่กลับสืบพบว่าเป็นการอุ้มฆ่า จึงได้ทำการจับกุมตัว พล.ต.ท.ชลอ และลูกน้องทั้ง 9 คน มาดำเนินการทางกฎหมาย พล.ต.ท.ชลอ ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานออกคำสั่งฆ่าสองแม่ลูกในปี พ.ศ. 2538 และในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาให้ประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ และศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ยืนตามศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิต

 

ต่อมาเขาได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 50 ปีในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ตำรวจอีก 6 นายถูกพิพากษาว่ามีความผิดด้วยและได้รับพระราชทานอภัยโทษในปี 2558 ตำรวจนายหนึ่งในชุดทำงานยังถูกพิพากษาลงโทษฐานยักยอกเงินของกลางในปี 2557

 

ในวันที่ 22 มีนาคม 2562 ศาลฎีกาพิพากษาปล่อยตัวนายตำรวจ 5 นายในคดีลักพาตัวและฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย Mohammad al-Ruwaili

 

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ซาอุดิอาระเบียยกเลิกการทำวีซ่าทำงานให้กับคนไทย และประกาศเตือนคนในประเทศไม่ให้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร ทำให้จำนวนคนงานไทยในซาอุดิอาระเบียลดลงจาก 150,000 คน ในปี พ.ศ. 2532 เหลือเพียง 10,000 คน ในปี พ.ศ. 2549

 

\"คดีเพชรซาอุ\" ย้อนรอยจอมโจรบันลือโลก ทำไทย-ซาอุฯร้าว 30 ปีก่อนฟื้นสัมพันธ์

 

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมคณะฯ ได้เดินทางเยือนกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ตามคำเชิญของ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดิอาระเบีย ซึ่งนับเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี หลังเกิดคดี "เพชรซาอุ" ที่ทำให้ลดระดับความสัมพันธ์ของสองประเทศ

 

ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ทางการซาอุดิอาระเบียไม่ได้ติดใจเรื่องไม่ได้เครื่องเพชรบลูไดมอนด์คืน มากเท่ากับการอุ้มฆ่าเชื้อพระวงศ์ในประเทศไทย และการพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ในปี 2565 มาจากวิสัยทัศน์ของซาอุดีอาระเบียเองที่ต้องการสานสัมพันธ์กับทุกประเทศ

 

\"คดีเพชรซาอุ\" ย้อนรอยจอมโจรบันลือโลก ทำไทย-ซาอุฯร้าว 30 ปีก่อนฟื้นสัมพันธ์

 

 

ข้อมูล wikipedia.org