สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ พ.ย. 64 โต 4.8% แรงงานและกำลังการผลิตส่งสัญญานบวก

สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ พ.ย. 64 โต 4.8% แรงงานและกำลังการผลิตส่งสัญญานบวก

ดัชนีผลผลิตอุตฯ พ.ย. 64 โต 4.8% สถานการณ์แรงงานภาพรวมปรับตัวดีขึ้น ดัชนีแรงงานขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน 1.1% ด้านกำลังการผลิตส่งสัญญาณดีขึ้น อยู่ที่ 65.81% เฉลี่ย 11 เดือนแรก อยู่ที่ 63.5%

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวดีต่อเนื่อง เผยภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อยู่ที่ระดับ 101.38 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3.36% จากเดือนก่อนหน้า ดันดัชนี 11 เดือนแรกปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.84% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 65.81% ส่งสัญญาณดีขึ้น หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลาย และเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว สำหรับ 11 เดือนแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 63.5%

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI เดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกที่ขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก อีกทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาให้กับสินค้าไทย ประกอบกับการบริโภคสินค้าทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายประเทศ และภาคการผลิตทั่วโลกมีการขยายตัวช่วยสนับสนุนคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย

นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐจากการเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศเพิ่มเติม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งทั้งภาคบริการและภาคการผลิต ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นผลดีต่อกำลังซื้อภายในประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ระดับ 101.38 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และปรับขึ้นสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562

โดย 11 เดือนแรก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.84% เติบโตสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 65.81% ส่วน 11 เดือนแรกอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 63.50% ส่งสัญญาณดีขึ้น

นอกจากนี้สถานการณ์การติดเชื้อของโรคโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการเดือนพฤศจิกายน ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สะท้อนจากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.11% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

การที่ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แบบค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับการเปิดประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว

สะท้อนจากอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียมขยายตัว รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสินค้าที่สามารถใช้เป็นของฝากมีการขยายตัวดี อาทิ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม และกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ

รวมถึงการส่งออกยังคงขยายตัวตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2564 ขยายตัว 23.13%  มูลค่า 18,787.30 ล้านดอลลาร์ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) ขยายตัว 20.82% มูลค่า 18,147.70 ล้านดอลลาร์

โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ด้านการนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัว 11.03% ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

ส่วนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 39.30% ได้แก่ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ พ.ย. 64 โต 4.8% แรงงานและกำลังการผลิตส่งสัญญานบวก สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้แก่

น้ำมันปิโตรเลียม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.88% จากกลุ่มน้ำมันดีเซล และน้ำมันเครื่องบินเป็นหลัก เป็นผลจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหลังประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว ทำให้มีการเดินทางขนส่งและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปกติได้มากกว่าปีก่อน

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 21.16% ตามความต้องการในตลาดโลกที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 โดย WSTS (World Semiconductor Trade Statistics) คาดการณ์ยอดขายทั่วโลกปี 2564 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25.60% และในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอีก 8.80% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 11 ปี

เม็ดพลาสติก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.00% จากกลุ่ม Polyethylene resin, Polypropylene resin, Ethylene, Propylene และ Benzene เป็นหลัก เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงต่อเนื่อง รวมถึงการทำ Turn Around ของผู้ผลิตบางรายในปีก่อน

น้ำมันปาล์ม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 55.92% จากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีมากกว่าปีก่อน เนื่องจากต้นปาล์มมีความสมบูรณ์เต็มที่ โดยปีก่อนแหล่งเพาะปลูกภาคใต้ประสบปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงส์ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากอินโดนีเซียและมาเลเซียขาดแคลนแรงงานในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ปริมาณน้ำมันปาล์มในตลาดโลกลดลงและมีราคาสูงขึ้น

เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ปรับตัวเพิ่มขึ้น 24.88% ตามความต้องการใช้ในโรงพยาบาลจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมยายังคงเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงต้องปฏิบัติตามนโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องมีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของตลาด และต้องรายงานต่อ อย. ทุก 15 วัน