ส่อง 8 อุตสาหกรรมฟื้นตัวจากโควิด ส่งออก – บริโภคหนุน ‘MPI’บวกแรง

ส่อง 8 อุตสาหกรรมฟื้นตัวจากโควิด ส่งออก – บริโภคหนุน ‘MPI’บวกแรง

เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 หลายภาคส่วนเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ตามแนวโน้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย และมีปัจจัยบวกจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 (ต.ค. - ธ.ค.) มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เช่น  จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันเริ่มมีจำนวนคงที่และลดลงจากการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนและแรงงานภาคอุตสาหกรรม ขณะที่รัฐบาลคลายล็อกให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

ทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผ.อ.สศอ.เปิดเผยว่าการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง บวกกับทิศทางเงินบาทอ่อนค่าเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทย อย่างไรก็ตามต้องติดตามสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในส่วนโรงงานหรือสถานประกอบการอย่างใกล้ชิด รวมถึงการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตจากอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีความเสี่ยงจากการระบาดที่อาจจะกระทบกับภาคการผลิตได้

เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 หลายภาคส่วนเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ตามแนวโน้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย และมีปัจจัยบวกจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้สศอ. ยังได้มีการคาดการณ์ MPI ในปี 2564 ที่จะมีการฟื้นตัวที่ชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่

1. ผลิตภัณฑ์อาหาร คาดว่า MPI จะขยายตัว 3.3% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่หดตัว 6.1% เนื่องจากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวจากสินค้าต่างๆ ได้แก่ ผัก ผลไม้สด ทั้งรูปแบบสด แช่แข็ง แช่เย็น กระป๋อง และแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ข้าว อาหารเลี้ยงสัตว์ และน้ำตาล

 

2. รถยนต์ในปีนี้คาดว่า MPI จะขยายตัว 12.1% จากปีก่อนที่หดตัวถึง 29.1% โดยคาดว่าจะผลิตรถยนต์ได้รวม 1.6 ล้านคัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อส่งออก 8.5 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.5% และจำหน่ายในประเทศ 7.5 แสนคัน

 

3. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า MPI จะขยายตัวได้ 5.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่หดตัว1.4% โดยดัชนี MPI ในปีนี้สูงถึงระดับ 97.8 โดยมีสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้แก่ คอมเพรสเซอร์ สายไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า และประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ PWB PCBA IC มีการผลิตเพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน

 

4. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่า MPI จะขยายตัว 7.87% จากปีก่อนที่หดตัว 2.65% คาดว่า MPI จะอยู่ที่ระดับ 115.58 จากการผลิตเพิ่มขึ้น ขั้นต้น Ethylene และ Propylene และขั้นปลาย PE PET อีกทั้งคาดการณ์มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้จะโตกว่าเดิม 28.33% จากเดิมหดตัว 17.18% โดยการส่งออกที่เติบโตได้ดีอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตเครมีขั้นต้นได้แก่ Ethylene และ Styrene และขั้นปลายได้แก่ PS และ PE

 

5. ผลิตภัณฑ์ยาง แบ่งออกเป็นการผลิตยางรถยนต์ MPI ขยายตัว 16.81% โดยมีการผลิตเพิ่มขึ้นจำนวน 60 ล้านเส้น จากปีก่อนหดตัว 15.89% ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกยางรถยนต์เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ ส่วนถุงมือยางการผลิตคาดว่าขยายตัว 0.63% จำนวน 31,500 ล้านชิ้น ผลิตมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อย

6. เคมีภัณฑ์ คาดว่าจะขยายตัว 2.8% จากปีก่อนหดตัว 2.9% โดยมีการส่งออกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เคมีอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี และเคมีอนินทรีย์ ขยายตัวในหลายตลาด เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และอินโดนีเซีย

 

7. เหล็กและเหล็กกล้า คาดว่าจะขยายตัว 15% จากเดิมหดตัว 7.1% โดยผลิตภัณฑ์เหล็กที่ขยายตัว ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดร้อน

 

8. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอ คาดว่าจะขยายตัว 6.17% จากเดิมหดตัว 12.36% และผ้าผืนขยายตัว 1.04% จากเดิมหดตัว 26.86% เนื่องจากการฟื้นตัวในตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน ประกอบกับฐานของปีก่อนต่ำและเริ่มชะลอตัวตั้งแต่ก่อนที่โควิด-19 ระบาด

 

สำหรับข้อมูล MPI ในเดือน ส.ค. ที่ สศอ.แถลงล่าสุดพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมหลักขยายตัวดีเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมที่ขยายตัวมากที่สุดที่ 12.45% เป็นผลจากการที่ตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลกนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการใช้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ในการผลิตสินค้าสมัยใหม่ โดยเฉพาะที่เป็นแบบ IoT (Internet of Thing) อีกทั้งใช้เป็นชิ้นส่วนเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์การสื่อสาร

ยางแท่งและยางแผ่น ขยายตัว 12.06% จากความต้องการของลูกค้าต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจีน เมื่อหลายประเทศเริ่มคลี่คลายจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งยังเติบโตตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์

และเหล็กและเหล็กกล้า ขยายตัวได้ถึง 11.89% ผลจากฐานการผลิตต่ำหลังสิ้นสุดมาตรการล็อกดาวน์ในปีก่อนที่ความต้องการยังมีจำกัด แต่ในปีนี้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปลายน้ำโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กรูปพรรณรีดร้อน เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นรีดร้อน เป็นหลัก