สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ ต.ค. โต 2.91% แรงหนุนส่งออกโตต่อเนื่อง 8 เดือนติด

สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ ต.ค. โต 2.91% แรงหนุนส่งออกโตต่อเนื่อง 8 เดือนติด

กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2564 ขยายตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 97.99 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.91% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดย 10 เดือนแรก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.93% มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 63.26 ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI เดือนตุลาคม 2564 ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากหลายประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก สะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกปี 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 15-16% อีกทั้งมีการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมได้ดี รวมถึงการออกมาตรการลดค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น 

นอกจากนี้ นโยบายการเปิดประเทศของไทยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนและแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ลดลง เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

 

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ปรับประมาณการดัชนี MPI ปี 2564 ขยายตัวขึ้น 5.2% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 3.9% และในปี 2565 ประมาณการดัชนี MPI ขยายตัว 4.0-5.0% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.5-3.5%

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างใกล้ชิด ซึ่งหลายประเทศได้กลับมาใช้มาตรการ ล็อกดาวน์อีกครั้ง จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 97.99 ขยายตัว 2.91% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการระบายของโรคโควิด-19  โดย 10 เดือนแรก อยู่ที่ระดับ 97.26 ขยายตัว 5.93% อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 64.07

โดย 10 เดือนอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.26 ส่งสัญญาณดีขึ้น จากสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ ที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 93.99 เมื่อเทียบกับดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 93.31 

โดยดัชนีแรงงานในอุตสาหกรรมสำคัญหลายกลุ่มเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนยังคงขยายตัว อาทิ ยานยนต์ขยายตัว 4.14% ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว 12.13% เครื่องปรับอากาศขยายตัว 5.3% ส่วนการคลายล็อกดาวน์ของประเทศคู่ค้าหลายประเทศ ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตรถยนต์กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ความต้องการซื้อในประเทศและต่างประเทศเริ่มขยายตัวในหลายสินค้า หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว นอกจากนี้ มีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่

อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งออกของไทยยังมีการขยายตัวที่ดี โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2564 ขยายตัว 13.86% มูลค่า 18,000.50 ล้านดอลลาร์ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) ขยายตัว 12.65% มูลค่า 17,458.30 ล้านดอลลาร์

โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

ในส่วนการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 25.39% ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมถึงการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 25.52% ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น 

ในส่วนของภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทย จากการจัดทำระบบชี้นำและเตือนภัยภาคอุตสาหกรรมของ สศอ. พบว่าในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีสัญญาณของสถานการณ์การผลิตปกติต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดีขึ้น หลังจากที่ส่งผลกระทบให้ดัชนีหดตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2562

โดยภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสอดรับกับการเปิดประเทศและคู่ค้าหลักขยายตัวได้ดีขึ้นตามคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกและคาดว่าจะส่งสัญญาณปกติจนถึงเดือนธันวาคม 2564 และเดือนมกราคม 2565 
 
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนตุลาคม 2564 

รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 6.02% จากกลุ่มสินค้ารถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนรถยนต์เริ่มคลี่คลายและกลับมาผลิตเป็นปกติประกอบกับผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นมากขึ้นจากมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้ตลาดในประเทศและตลาดส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 12.41% ตามความต้องการสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ในตลาดโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เซิร์ฟเวอร์รถยนต์ และอุปกรณ์ Smart home เป็นต้น

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 6.26% จากกลุ่มสินค้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเบนซินออกเทน 91 เป็นหลัก จากการเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้วในปีนี้ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปมีเพิ่มขึ้น ประกอบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการหยุดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นบางหน่วย

เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 36.17% จากกลุ่มสินค้าเครื่องเรือนทำด้วยไม้ และเครื่องเรือนทำด้วยโลหะ เป็นหลักตามคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะลูกค้าจากอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ส่วนตลาดในประเทศได้รับคำสั่งซื้อสินค้าเครื่องเรือนทำด้วยโลหะจากห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ เพิ่มขึ้น

ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 12.88% จากกลุ่มสินค้ายางแท่ง ยางแผ่น และยางรัดของ เป็นหลักจากคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศจีน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย