รำลึก 17 ปี โศกนาฏกรรม คลื่นยักษ์ "สึนามิ"

รำลึก 17 ปี โศกนาฏกรรม คลื่นยักษ์ "สึนามิ"

กระบี่-พังงา จัดงานรำลึก 17 ปี โศกนาฏกรรม คลื่นยักษ์ "สึนามิ" ถึงผู้ล่วงลับแบบเรียบง่าย แต่ความทรงจำยังยากจะลืมเลือน ภายใต้มาตรการคุมเข้มโควิด-19

นับเป็นเวลา 17 ปี คลื่นยักษ์ “สึนามิ” ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่ซัดกลืนชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ โศกนาฏกรรม ครั้งนั้นยังฝังรอยแผลเป็นภายในจิตใจ 

ในวันนี้ (26 ธ.ค.64) จังหวัดกระบี่จัดงานรำลึก "สึนามิ" เกาะพีพี ครบรอบ 17 ปี ที่ลานประติมากรรมปลาใบอ่าวต้นไทร เกาะพีพี หมูที่ 7 ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานในพิธี ร่วมกับ อบต .อ่าวนาง ประชาชนในพื้นที่เกาะพีพี และญาติผู้ เสียชีวิตสูญหาย จัดงานรำลึกขึ้น

โดยมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม พร้อมทั้งกล่าวไว้อาลัย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเศร้าโศก พบว่าญาติผู้เสียชีวิต มาร่วมค่อนข้างบางตา เนื่องจากอยู่ในช่วงการระบาดของไวรัส โควิด-19

รำลึก 17 ปี โศกนาฏกรรม คลื่นยักษ์ "สึนามิ"

พร้อมกันนี้นักดำน้ำนำพวงมาลา ไปวางไว้ที่ อนุสรณ์สถานสึนามิใต้น้ำ บริเวณ หน้าอ่าวเกาะพีพี พิธีการรำลึกครั้งนี้ จัดขึ้นอย่างเรียบง่าย ภายใต้มาตรการคัดกรอง ที่เข้มงวด ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้เข้าร่วมงานทุกคน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เชื้อไวรัสโควิด-19

 

หลังจากเกิดโศกนาฎกรรมครั้งนั้น ผู้ประกอบการในพื้นที่ชายฝั่งทะเล มีการตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมรองรับกับเหตุการณ์คลื่นยักษ์ "สึนามิ" ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้ สำหรับความสูญเสียของจังหวัดกระบี่ ในเหตุการณ์สึนามิปี 2547 มีคนไทยและชาวต่างชาติและผู้ประกอบการเสียชีวิตรวม 722 คน สูญหาย 587 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหอหลบภัยเป็นอาคาร 3 ชั้นสร้างขึ้นในพื้นที่หมู่ 7 บ้านเกาะพีพี เพื่อใช้ในหลบภัยกรณีที่เกิดคลื่นยักษ์ "สึนามิ" ขึ้น ยังพร้อมใช้งาน ส่วนหอเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิ จำนวน 32 หอ ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังสามารถใช้งานดีเช่นเดียวกัน ซึ่งได้มีการทดสอบสัญญาณในทุกวันพุธ

รำลึก 17 ปี โศกนาฏกรรม คลื่นยักษ์ "สึนามิ"

ขณะที่ สวนอนุสรณ์สึนามิ บ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ว่าที่ ร.อ.พงษ์ศักดิ์ เวทยาวงศ์ นายอำเภอตะกั่วป่า นำส่วนราชการ นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ รวมถึงญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่ม เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 ร่วมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่ทำให้ชาวบ้านบ้านน้ำเค็มและนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตจำนวนมาก

โดยปีนี้เป็นปีที่ 17 จัดให้มีพิธีและกิจกรรมอย่างเรียบง่าย ประกอบด้วย พิธีกรรมทางศาสนา ทั้ง 3 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธ อิสลาม และศาสนาคริสต์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิต ซึ่งมีญาติผู้เสียชีวิตได้นำรูปถ่าย พร้อมด้วยข้าวปลาอาหารมาร่วมในพิธี

พร้อมกับอ่านสารวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติจากนายกรัฐมนตรี พร้อมกับร่วมกันวางพวงมาลา และช่อกุหลาบขาว ที่หน้ารูปคุณพุ่ม เจนเซ่น และยืนไว้อาลัยแก่ผู้ล่วงลับจากเหตุการณ์สึนามิถล่ม

รำลึก 17 ปี โศกนาฏกรรม คลื่นยักษ์ "สึนามิ"

สำหรับช่วงเย็นของวันนี้( 26 ธันวาคม 2564) จะมีการจุดเทียนรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวในพื้นที่ชายทะเลบ้านน้ำเค็มและบริเวณอนุสรณ์สึนามิ เรือตรวจการณ์ 813 โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมคำนึงถึงระยะห่าง กำหนดไว้ผู้เข้าร่วมไว้ไม่เกิน 100 คน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งบรรยากาศการจัดงานรำลึกในปีที่ 17 เหตุการณ์สึนามิถล่ม พบว่ายังคงอยู่ในความทรงจำของผู้ที่สูญเสียมิเสื่อมคลาย

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงความสูญเสียจากภัยพิบัติการเตรียมความพร้อมรับมือและป้องกันภัยพิบัติในเบื้องต้นด้วยตนเอง และมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการดำรงชีวิตทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ

รำลึก 17 ปี โศกนาฏกรรม คลื่นยักษ์ "สึนามิ"

นายนิยม เอี่ยมสวัสดิ์ อายุ 66 ปี ชาวบ้านน้ำเค็มเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นได้สร้างความสูญเสียให้กับครอบครัวตนเองเองและเพื่อนบ้านเป็นอย่างมากเรียกได้ว่าหมดตัวเลยทีเดียว ในวันนี้ของทุกปีก็จะมาทำบุญรำลึกถึงลูกสาวที่สุญเสียไปในวันนั้น ขณะที่ครบรอบ 17 ปี นั้น เหตุการณ์ครั้งนั้นก็เริ่มจะเลือนหายไปจากความทรงจำบ้างแล้ว ขณะที่ชุมชนก็มีความรู้และความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกเช่นกัน

ด้านนายไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท เปิดเผยว่า การจัดงานรำลึกสึนามิทุกปี นอกจากเป็นการทำบุญให้กับผู้สูญเสียแล้ว ทำให้เด็กๆรุ่นใหม่ได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ในอดีต ทำให้ชุมชนตื่นตัว พร้อมรับมือต่อภัยพิบัติ จนทำให้ชุมชนบ้านน้ำเค็มกลายเป็นต้นแบบของชุมชนรับมือภัยพิบัติ เป็นที่เรียนรู้ของชุมชนต่างๆทั่วประเทศ

ต่อมา เวลา 18.30 น. ที่ชายทะเลบ้านน้ำเค็ม​ ต.บางม่วง​ อ.ตะกั่วป่า​ จ.พังงา​ นายธรรมนูญ​ ศรีวรรธนะ​ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา​ พร้อมด้วย​ นางกันตวรรณ​ ตันเถียร​ กุลจรรยาวิวัฒน์​ สส.จังหวัดพังงา และว่าที่​ร้อยเอก​พงษ์ศักดิ์​ เวทยาวงศ์​ นายอำเภอ​ตะกั่วป่า​ นำส่วนราชการประชาชนนักท่องเที่ยวและญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์พิบัติภัยสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ จุดเทียนไว้อาลัย รำลึกถึงผู้สูญเสียจากเหตุการณ์พิบัติภัยสึนามิ โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาได้กล่าวคำไว้อาลัย​ ตัวแทนชาวชุมชนบ้านน้ำเค็มอ่านกลอนรำลึกถึงเหตุการณ์สึนามิ​  นั่งสงบรำลึกถึงผู้สูญเสียเป็นเวลา 5 นาที​ จากนั้นได้ร่วมกันจุดเทียนไว้อาลัย