ส.อ.ท.หวั่นแพ็คเกจ EV เอื้อเฉพาะรถนำเข้า

ส.อ.ท.หวั่นแพ็คเกจ EV เอื้อเฉพาะรถนำเข้า

ด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและไม่สามารถจะควบคุมได้ ทั้งไฟไหม้ น้ำท่วม สึนามิ หรือแม้แต่ฝุ่นPM2.5 ที่ลอยอยู่บนชั้นบรรยากาศ “ล้วนเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์” ดังนั้น ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ “จากผู้ผลิตมาถึงผู้ใช้” ที่นับวันจะมีปริมาณมากยิ่งขึ้น ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้รถอีวีแทนรถสันดาป ซึ่งการจะเปลี่ยนรถที่มีราคาแพงนอกจากการนำหลักการลดโลกร้อนมาจูงใจอย่างเดียวคงจะไม่ใช่คำตอบ สิ่งสำคัญสุดคือ “ราคา”

ลดภาษี-คืนเงินผู้ซื้อ

สำหรับรายละเอียดมาตรการส่งเสริมตลาดอีวีประกอบด้วยการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์อีวี ลดภาษีนำเข้าศุลกากร (อากรขาเข้า) และการคืนเงินให้ผู้ซื้ออีวี โดยจะมีผลในไตรมาส 1 ปี 2565 และมีอายุมาตรการ 4 ปี โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มรถอีวีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้รับการอุดหนุนค่ารถคันละ 150,000 บาท รวมกับการลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% ซึ่งมูลค่าภาษีที่ลดลงได้ขึ้นกับราคาของตัวรถ รวมแล้วมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่คันละ 50,000 บาท อีกทั้งอีวีนำเข้าจะได้รับการลดภาษีนำเข้าด้วย (เงื่อนไขผู้นำเข้าต้องมีแผนผลิตอีวีในประเทศภายใน 3ปี) วงเงิน 4 ปี 40,000 ล้านบาท

2.กลุ่มราคารถอีวี 2 ล้านบาทขึ้นไป ลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% ลดภาษีนำเข้า แต่จะมีการกำหนดเพดานราคารถที่ได้รับสิทธิที่คันละ 2-7 ล้านบาท เนื่องจากมีผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มที่ซื้อรถราคาสูงไม่มาก รวมทั้งกลุ่มนี้จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนคันละ 150,000 บาท เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว

ส่วนมาตรการส่งเสริมการลงทุนสถานีชาร์จจะครอบคลุม 2 ส่วน คือ 1.การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่จูงใจการลงทุน 2.การอำนวยความสะดวกการติดตั้งจุดชาร์จ

แห่นำเข้ารถอีวีจากจีน

ทั้งนี้ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะงาน Motor Expo 2021 ค่ายรถยนต์ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ต่างขนทัพรถอีวีออกมาโชว์ อาทิ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” ได้เปิด “โอร่า กู๊ดแคท (ORA Good Cat) 3 รุ่นเริ่มต้นราคา 9.89 แสน-1.19 ล้านบาท

ตลอดจนค่ายรถยนต์แบรนด์ยุโรปเลือกนำเข้า EV จากจีนมาทำตลาด เช่น BMW iX3 ราคา 3.399 ล้านบาท และ Volvo XC40 Pure Electric ราคา 2.59 ล้านบาท เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาผู้ให้บริการรายใหญ่ได้เห็นโอกาสการลงทุนกลุ่มรถอีวี โดยการนำเข้ารถอีวีที่ผลิตในประเทศจีนเพื่อนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยในช่วงระหว่างเตรียมตั้งโรงงานการผลิตลดขั้นตอนการผลิตหลายแบรนด์ ส่วนรถยนต์ญี่ปุ่นที่ตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยขณะนี้ ได้เริ่มมีแผนที่จะปรับสายการผลิตเป็นรถอีวีรองรับตลาดเช่นกัน  

แนะหนุนผู้ผลิตในไทย

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วยังไม่เห็นมาตรการออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เห็นแต่ในข่าวที่ออกมาเท่านั้น ซึ่งแพ็คเกจที่ออกมาเห็นได้ชัดว่าช่วยเหลือรถนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ โดยยอดขายรถอีวีเดือนม.ค.-พ.ย.2564 อยู่ที่กว่า 1,800 คัน และ 90% เป็นรถยนต์นำเข้า ดังนั้น จึงอยากให้เน้นส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนและรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ดังนั้น จึงอยากเห็นความชัดเจนของมาตรการสนับสนุนผู้ใช้รถอีวีด้วยเช่นกัน

“ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลไม่กระตุ้นให้มีการผลิตในไทยก่อน ในเมื่อบอกว่ามีวงเงินสนับสนุนหลายหมื่นล้านบาท ก็ควรจะสนับสนุนกลุ่มโรงงาน ตอนนี้คนที่ซื้อคือกลุ่มคนมีเงิน ไม่ลดเขาก็ซื้ออยู่แล้ว เพราะ 95% เป็นรถนำเข้า อีก 5% เป็นรถที่ผลิตในไทยที่มีเพียงยี่ห้อเดียว และราคาก็ถูกที่คันละ 6-7 แสนบาท คนซื้อน้อย เพราะต้องการรถที่มีขนาดใหญ่ วิ่งได้ระยะทางไกล” 

สร้างงาน สร้างเงิน กระตุ้นจีดีพี

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้คนใช้รถอีวียังไม่มาก รัฐบาลยังมีเวลาในการสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตตั้งโรงงานแบบครบวงจร และปีถัดไปค่อยช่วยลดราคา จะคันละเท่าไหร่ก็ว่าไป เพราะประเทศไทยเจอกับวิกฤตโควิด ขาดแคลงแรงงาน ทำไมไม่สร้างงาน สร้างเม็ดเงินลงทุน เพิ่มจีดีพีประเทศ ให้ไทยเป็นฮับในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยปัจจุบันมีจำนวน 46 ราย ประกอบด้วย เกรท วอลล์ มอเตอร์ เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด, คาวาซากิ มอเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) จำกัด, ซิตี้ ออโต้โมบิล จำกัด, ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, ดูคาติ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, เดมเลอร์ คอมเมอร์เชียล วีฮีเคิลส์ (ประเทศไทย) จำกัด,  ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด, โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, โตโยต้า ออโต้ เวิคส จำกัด

ทาทา มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด, ทีซี แมนูแฟคเจอริ่ง แอนด์ แอสเซมบลี่ย์ (ประเทศไทย) จำกัด, ทีซี ออโต้ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด

ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด, ไทยประดิษฐ์ประกอบรถ (2504) จำกัด, ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด, ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน), ไทย-สวีดิช แอสเซมบลีย์ จำกัด, ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด, นิสสัน พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด

นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี จำกัด, บีเอ็มดับเบิลยูแมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด, เบลฟอร์ต ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด และ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด