สศช.ดันแผนพัฒนาฯฉบับ 13 พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย มุ่งฐานผลิต EV โลก

สศช.ดันแผนพัฒนาฯฉบับ 13  พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย มุ่งฐานผลิต EV โลก

สศช. อยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่จะประกาศใช้ในปีงบประมาณ 2566-2570 และอยู่ระหว่างรับฟังความเห็น โดยการจัดทำแผนพัฒนาฯ ครั้งนี้จะโฟกัสประเด็นที่ประเทศไทยต้องพัฒนามากขึ้น เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีแผนการพัฒนา EV ในไทยด้วย

นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยระหว่างการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ว่า สศช.กำลังรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 โดยกำหนดหมุดหมายในการพัฒนา 13 เรื่องสำคัญ โดยมีเป้าหมายพลิกโฉมประเทศ (Transformation) ให้ตอบโจทย์การพัฒนาให้สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจไทยสร้างมูลค่าได้อย่างยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การก้าวทันพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก คนไทยได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ 13 หมุดหมายที่ สศช.กำหนดในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีหมุดหมายที่กำหนดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวคุณภาพสูงโดยมีเป้าหมายเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อวันของนักท่องเที่ยวเพิ่ม 10% ต่อปี การสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าและบริการสุขภาพ สัดส่วนมูลค่าเพิ่มต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 1.7% ส่วมมูลค่าจีดีพีจากเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มไม่น้อยกว่า 1% 

สำหรับการส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่สำคัญของโลก ได้วางเป้าหมายนี้ไว้ในหมุดหมายที่ 3  โดยได้มีการวางเป้าหมายโดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ซึ่งมีเป้าหมายสร้างอุปสงค์การใช้อีวีในประเทศเป็น 26% ภายในปี 2570 และสร้างความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนอย่างเป็นระบบ โดยส่งเสริมให้มีสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5,000 หัวจ่าย การเตรียมแรงงานในสาขานี้ให้ได้ 30,000 คน เพื่อสนับสนุนการลงทุนและการปรับตัว ของผู้ประกอบการเดิมในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวีอันดับ 1 ในอาเซียน 

สศช.ดันแผนพัฒนาฯฉบับ 13  พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย มุ่งฐานผลิต EV โลก

 

ทั้งนี้ได้กำหนด 11 กลยุทธ์สำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวีที่สำคัญแห่งหนึ่งในโลก คือ 1.ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 2.สนับสนุนการขยายตัวของตลาดส่งออก 3.กำหนดแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน 4.ยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ 

5.กำหนดมาตรการสำหรับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านของผู้ประกอบการ 6.สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง 7.การสร้างความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน 

8.การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม 9.ผลิตและพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้อง 10.กำหนดมาตรฐานด้านคุณสมบัติและความปลอดภัย 11.สนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบการ  

นอกจากนี้ สศช.ร่วมกับหน่วยงานราชการและคณะกรรมการหลายส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดตัวชี้วัดหลักของแผน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ 

1.การปรับโครงสร้างการผลิต และบริการสู่เศรษฐกิจ ฐานนวัตกรรม โดยมีตัวชี้วัดว่ารายได้ต่อหัวประชากรต้องเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่คนไทยมีรายได้เฉลี่ย 7,216.6 ดอลลาร์หรือ 238,147.8 บาทต่อคนต่อปี (อัตราแลกเปลี่ยนที่ 33 บาท/ดอลลาร์) เพิ่มเป็น 8,800 ดอลลาร์ หรือ 290,400 บาทต่อคนต่อปี 

2.การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ โดยมีเป้าหมายในการยกระดับการพัฒนาแรงงาน เพิ่มทักษะความรู้ให้คนรุ่นใหม่ โดยมีตัวชี้วัดคือ ระดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ (HDI) ที่เป็นการเก็บสถิติแบบองค์รวมที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำรงชีพ การศึกษาและรายได้เฉลี่ยต่อหัว โดยตั้งเป้าหมายให้คะแนน HDI ของไทยเพิ่มเป็น 0.82 จากปัจจุบันมีคะแนนอยู่ที่ 0.77  เพื่อผลักดันให้ไทยอยู่กลุ่มประเทศมีคะแนน HDI สูงระดับต้นของโลก 

3.การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาส และความเป็นธรรม โดยมีการกำหนดตัวชี้วัด คือ ลดความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุด 10% และต่ำสุด 40% ของประเทศให้ลดลงเหลือต่ำกว่า 5 เท่า จากปัจจุบันที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่าง 2 กลุ่มนี้ห่างกัน 20 เท่า 

4.การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน โดยมีตัวชี้วัดประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดลงจากกรณีปกติ อย่างน้อย 15% ต่อปี 

5.การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือ กับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงภายใต้บริบทโลกใหม่  โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดในเรื่องดัชนีรวมความสะท้อนความสามารถในกรรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงมีค่าไม่ต่ำกว่า 100 ตามดัชนีที่ใช้ชี้วัด 

“ในการจัดทำร่างแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 ขั้นตอนต่อไป สศช.จะนำเอาข้อเสนอแนะต่างๆไปหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนแผนงานเพื่อปรับตัวชี้วัด ซึ่งขณะนี้มีข้อเสนอที่ต้องหารือในการปรับเป้าหมาย เช่น รายได้ต่อหัวประชากร การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว การเพิ่มผลิตภาพการผลิตทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรมและเอสเอ็มอี ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดสภาพัฒน์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ก่อนประกาศใช้ในปีงบประมาณ 2566” นายวิโรจน์ กล่าว