ดัน "เมืองใหม่สุรนารี" แผนแรกพัฒนาโคราช ศูนย์กลางวิจัยนวัตกรรมภูมิภาค

ดัน "เมืองใหม่สุรนารี" แผนแรกพัฒนาโคราช ศูนย์กลางวิจัยนวัตกรรมภูมิภาค

วิจัยชี้ "เมืองใหม่สุรนารี" กำหนดเป็นเมืองนำร่องพัฒนา มีความคุ้มค่าระยะยาว และเป็นไปได้ดำเนินงานจริงที่สุด ระบุแผนเมืองใหม่โคราชจะเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งเศรษฐกิจ รองรับงานใหม่และโอกาสการลงทุนหลังวิกฤติโควิด-19

จังหวัดนครราชสีมา มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง โครงการท่าเรือบกนครราชสีมา (Dry Port) นอกจากนี้ ยังเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรมนุษย์มากเป็นเป็นอันดับที่ 2 รองจากกรุงเทพฯ รวมทั้งมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ซึ่งพร้อมจะผลิตบุคลากรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ ดังนั้นจังหวัดนครราชสีมาต้องเตรียมความพร้อมพัฒนาพื้นที่ให้ทันการเติบโตของเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและใช้ประโยชน์ที่ดินได้เต็มศักยภาพ

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่โรงแรมดิอิมพีเรียลโคราช อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมพร้อมนายอนุชา เจริญพันธ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา และนายธนิชา นิยมวัน ผู้จัดการโครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา ร่วมจัดการประชุมรับฟังเพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 2 "การศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา" 

โดยมีผู้แทนภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่สนใจร่วมรับฟังร่างผังพื้นที่ที่มีศักยภาพการพัฒนา ซึ่งเป็นการนำผลจากการประชุมมาวิเคราะห์สังเคราะห์และคัดเลือก "เมืองใหม่สุรนารี" เป็นต้นแบบนำร่อง จาก 4 พื้นที่ศักยภาพที่ได้นำเสนอไปแล้วในการประชุมครั้งก่อน เพื่อพัฒนาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา ทั้งนี้ ได้นำเสนอร่างผังพื้นที่เฉพาะรวมถึงการรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความต้องการจากทุกภาคส่วน

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตก้าวสู่การเป็นมหานคร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่โดยมีความคิดเห็นและประเด็นที่ต่างกันแต่มีเป้าหมายเดียวกัน วันนี้เราจึงต้องการรวมยุทธศาสตร์เหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อกำหนดภาพเมืองใหม่

โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ได้ว่าจ้างบริษัท แพลนเนอร์ 26 จำกัด เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา เพื่อสร้างภาพอนาคตพัฒนาเมืองใหม่ใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งมีระยะเวลาศึกษา 600 วัน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ เมื่อผลการศึกษาวิจัยและรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนได้ข้อสรุปแล้ว จะมีการเสนอต่อกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อออกผังที่ดินบังคับ จองพื้นที่พัฒนาเมืองใหม่ไม่ให้การถือครองที่ดินและการใช้ประโยชน์เปลี่ยนไประหว่างรอผู้ร่วมลงทุนและการอนุมัติโครงการจากภาครัฐ เพื่อให้การศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง 

นายธนิชา นิยมวัน ผู้จัดการโครงการการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย กล่าวว่า โครงการพัฒนาเมืองใหม่ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของถึงภาคส่วน โดยได้จัดประชุมและสัมมนามาแล้ว 7 ครั้ง จากการประชุมโครงการเมืองใหม่และการเลือกพื้นที่นำร่องครั้งแรก โดยการวิเคราะห์พื้นที่ใช้เครื่องมือทางภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) มาวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ด้วยกรอบแนวคิด Potential Surface Analysis (PSA) หรือ Sieve analysis ร่วมกับการประยุกต์ใช้เทคนิคการมองภาพอนาคต (foresight) เป็นเครื่องมือช่วยในการออกแบบและวางผังยุทธศาสตร์ให้มีความแม่นยำ ยืดหยุ่น สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอนในอนาคตและนำไปสู่ข้อเสนอในการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอันเป็นเครื่องมือที่หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกใช้สำหรับจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองในระยะยาว นำมาสู่การกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม ในการพัฒนาเมืองใหม่ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาทั้งด้านการเดินทาง การเชื่อมโยงพื้นที่โดยรอบ และโอกาสในการขยายตัวของผู้อยู่อาศัย

นอกจากนี้ การออกแบบและวางผังเมืองใหม่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่26 (COP26) คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral) ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเมืองในโลกปัจจุบันและอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากผู้ที่เข้ามาลงทุนต่างมีเป้าหมายสู่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

ผลการวิเคราะห์ปรากฏพื้นที่ศักยภาพ 4 พื้นที่ ประกอบด้วย 

1. เมืองใหม่สุรนารี เมืองแห่งการเสริมสร้างทักษะและความรู้ สู่ความเป็นศูนย์กลางการวิจัยนวัตกรรมแห่งภูมิภาค 

2. เมืองใหม่ปากช่อง เมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ระดับนานาชาติ บนพื้นฐานของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศน์อันบริสุทธิ์ต่อยอดฐานเกษตรกรรมสู่การพัฒนาพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพในระดับสากล 

3. เมืองใหม่บัวใหญ่ เมืองศูนย์กลางโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าของอนุภูมิภาค ภายใต้ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว  

4. เมืองใหม่หนองระเวียง แหล่งรวมองค์ความรู้ เมืองแห่งการเสริมสร้างทักษะและความรู้ สู่ความเป็นศูนย์กลางการวิจัยนวัตกรรมแห่งภูมิภาค

จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบหาพื้นที่นำร่องเริ่มลงทุน ทั้งด้านงบประมาณ รูปแบบการลงทุน ผลตอบแทนทางตรงและทางอ้อม การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงได้ข้อสรุปว่า เมืองใหม่สุรนารีสมควรได้รับเลือกเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาโครงการเมืองใหม่เป็นอันดับแรก เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ด้วยมีปัจจัยหนุนด้านพื้นที่ซึ่งเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 3,800 ไร่ จึงสามารถดำเนินงานได้โดยให้สำนักงานโยธาการและผังเมืองจังหวัด กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักที่รับไปดำเนินงาน 

โดย "เมืองใหม่สุรนารี" ถูกวางบทบาทให้เป็น เมืองแห่งการเสริมสร้างทักษะและความรู้ สู่ความเป็นศูนย์กลางการวิจัยนวัตกรรมแห่งภูมิภาค เพื่อรองรับประชากรกว่า 208,070 คน ตีมูลค่างบประมาณรวม 97,035 ล้านบาท โดยจะผลักดันให้ท้องถิ่นพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเองและสร้างฐานเศรษฐกิจสมัยใหม่ รวมทั้งออกแบบให้เมืองมีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า LRT (Light Rail Transit) เชื่อมโยงเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงและพื้นที่เมืองเดิม 

โดยจะแบ่งการใช้ประโยชน์เป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ 

- ทางทิศเหนือ จะเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ตั้งแต่หนาแน่น จนถึงเบาบาง แล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่

- ทางทิศใต้ บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ มาจนถึงกลางของพื้นที่โคราช จะใช้เป็นพื้นที่สีเขียว และนันทนาการ รวมถึงเป็นพื้นที่กันชนสีเขียวของโครงการ 3,689.15 ไร่ ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก 3.15 เท่า มีสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 34% ต่อปี

ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนเสนอให้รัฐบาลเปิดให้ลงทุนในรูปแบบร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้จัดหาพื้นที่ เตรียมพื้นที่พร้อมกับทำสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน ในพื้นที่เพื่อรองรับการพัฒนา จากนั้นจะให้เอกชน จากบริษัทพัฒนาเมืองของท้องถิ่น หรือเอกชนภายนอกร่วมทุน เข้ามาพัฒนาพื้นที่และให้ประชาชนเข้ามาเช่าต่ออีกที ซึ่งรูปแบบที่รัฐบาลลงทุนน้อยสุดและเปิดโอกาสให้เอกชน หรือหน่วยงานในท้องถิ่นสามารถเข้าร่วมพัฒนาพื้นที่ได้