สภาพัฒน์ระดมความคิดเห็นอดีตผู้บริหารระดับสูง ต่อแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13

สภาพัฒน์ระดมความคิดเห็นอดีตผู้บริหารระดับสูง ต่อแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13

สศช.ระดมความเห็นจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 กลุ่มดีตผู้บริหารระดับสูง ทั้งอดีตเลขาธิการ และอดีตรองเลขาธิการ สศช. มีดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นประธานการประชุม แนะทำให้แผนฯขับเคลื่อนได้จริง สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดการประชุมระดมความเห็นต่อ "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)" กลุ่มอดีตผู้บริหาร สศช. ณ ห้องประชุม 521 อาคาร 5 ชั้น 2 สศช. โดย ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา อดีตเลขาธิการ สศช. ให้เกียรติเป็นประธานการประชุม

ดร.สุเมธ  กล่าวเปิดการประชุมว่า วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่อดีตผู้บริหาร สศช. ซึ่งมีทั้งประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการวางแผนได้มาร่วมกันให้ข้อเสนอแนะ เพื่อช่วยให้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นเครื่องนำทางและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

สิ่งสำคัญคือต้องทำให้แผนพัฒนาฯ นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง โดยอาศัยบทบาทของสื่ออย่างเหมาะสม เพื่อช่วยสร้างกระแสการยอมรับและแรงสนับสนุนจากประชาชนทั้งประเทศ (national wave) ดังเช่นในช่วงการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ที่สร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณชนอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ประชาชนจนถึงผู้นำรัฐบาลและฝ่ายค้านในรัฐสภา ทำให้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ได้รับการยอมรับจากประชาชนและสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาได้

ประธานการประชุมกล่าวว่า การจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีความสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากมีกระบวนการคิด (thinking process) ที่เริ่มต้นจากการสำรวจต้นทุนและความพร้อมของประเทศในแต่ละด้าน เปรียบเสมือนการวางเสาเข็มที่มั่นคงของการพัฒนา รวมทั้งยังมีการประเมินแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ สอดคล้องกับคำจำกัดความของหลักปรัชญาฯ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้ ให้คำนึงถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ อย่างเท่าทันกับกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งทั้งหมดปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ทั้งกรอบคิดและใน 13 หมุดหมาย ซึ่งวิเคราะห์อยู่บนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถนำไปปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ

นายดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการฯ กล่าวว่า สศช. อยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561
ที่กำหนดว่าการจัดทำแผนพัฒนาฯ ต้องจัดทำกรอบที่ผ่านความเห็นจากประชาชนเป็นอันดับแรก จึงจะดำเนินการในขั้นตอนของการจัดทำยุทธศาสตร์ของแผนฯ ในรายละเอียดต่อไป โดยในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2564  สศช. ได้จัดเวทีระดมความเห็นในระดับกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มทั่วประเทศ และเฉพาะกลุ่มในส่วนกลาง ได้แก่ หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน และสื่อมวลชน รวมถึงผ่านช่องทางออนไลน์และสื่อสาธารณะ

หลังจากนั้น ได้นำความเห็นจากเวทีต่าง ๆ มายกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 โดยเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จำนวน 13 คณะเพื่อจัดทำเป้าหมาย ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย และกลยุทธ์ของการพัฒนาของทั้ง 13 หมุดหมาย ก่อนจะนำไประดมความเห็นระดับประเทศในการประชุมประจำปี 2564 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

สภาพัฒน์ระดมความคิดเห็นอดีตผู้บริหารระดับสูง ต่อแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13

เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มาระดมความเห็นร่วมกับภาคีการพัฒนาในกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม และกลุ่มเฉพาะในส่วนกลาง 7 กลุ่ม รวมถึงกลุ่มอดีตผู้บริหาร สศช. เพื่อรับฟังความเห็นในการปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความสมบูรณ์ และสอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตลอดจนสามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างแท้จริง

จากนั้น สศช. จะนำความคิดเห็นที่ได้รับจากการประชุมในทุกเวทีมาประมวลและปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วนำเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แผนฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ต่อไป โดยระหว่างนี้ สศช. ได้นำร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ไปหารือกับสำนักงบประมาณและเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณประจำปี 2566 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้ดำเนินการจัดทำข้อเสนองบประมาณได้ล่วงหน้า

สำหรับการประชุมระดมความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 กลุ่มอดีตผู้บริหาร สศช. ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ มิติด้านสังคม ควรเพิ่มการตระหนักถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและประพฤติมิชอบและการป้องกันแก้ไขจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการบ่มเพาะจิตสำนึกที่ดีตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนให้มีความซื่อสัตย์ รู้จักการแบ่งปัน และการเคารพกฏเกณฑ์  มิติด้านเศรษฐกิจ ควรคำนึงถึงการเชื่อมต่อระหว่างแผนการผลิตปัจจุบันกับอนาคต โดยเฉพาะแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่ม Cash Cows ในสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยจากสถานการณ์โควิด–19 รวมทั้งพิจารณาส่งเสริมการแข่งขันที่ยุติธรรมระหว่างผู้ประกอบการรายใหม่และรายเดิม ซึ่งจะนำไปสู่ประสิทธิภาพในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น

มิติด้านการพัฒนาพื้นที่ เมือง และภูมิภาค ควรให้ความสำคัญกับการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน ซึ่งจะมีผลต่อกระบวนการกลายเป็นเมือง (Urbanization) ต่อไป และควรจัดลำดับความสำคัญของโครงการ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเป็นตัวอย่างการพัฒนาให้แก่พื้นที่อื่น ๆ  รวมทั้งควรมีการสร้างความมั่นคงทางน้ำให้ทั่วถึงทั้งประเทศ มิติด้านสิ่งแวดล้อม ควรเพิ่มน้ำหนักความสำคัญในประเด็นการจัดการปัญหาน้ำเสียและขยะ รวมทั้งกำหนดแนวทางการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถรับมือกับปัญหา ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังทุนทางทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ มิติการปรับเปลี่ยนบริการภาครัฐ รัฐควรเปลี่ยนบทบาทโดยมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ทั้งภาคเอกชน ชุมชนฐานราก และประชาสังคม ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายอาสาสมัครจากภาคประชาสังคมให้กลายเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนประเทศร่วมกัน

ประธานการประชุม ได้กล่าวในตอนท้ายว่า  ดีใจที่ได้เห็นการแสดงความคิดอย่างกว้างขวาง มิติของแผนพัฒนานั้นเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง ไม่มีแผนไหนที่เหมือนกันเนื่องจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนแปลงมากขึ้นทุกทีและเป็นความท้าทายต่อการวางแผนอย่างยิ่ง ขอให้ สศช. วางแผนภายใต้หลักประชาธิปไตยคือเสียงของประชาชนเป็นใหญ่ ให้เสียงของประชาชนสะท้อนอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้เกิดเป็นกระแสและผลักดันให้ประเทศเดินไปในทิศทางของความสมดุลและยั่งยืน

การประชุมในวันนี้มีอดีตผู้บริหารเข้าร่วมประชุม ณ สศช. และผ่านทางระบบออนไลน์รวม 14 ท่าน ดังนี้ อดีตเลขาธิการฯ ได้แก่ นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ และ ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ  อดีตผู้บริหารที่เคยเข้าร่วม ครม. หรือดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง ได้แก่ ดร.มีชัย  วีระไวทยะ  ดร.พรชัย  รุจิประภา  นายปีติพงศ์  พึ่งบุญ ณ อยุธยา และ ดร.เกษมสันต์  จิณณวาโส  อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายธรรมรักษ์  การพิศิษฎ์ 

อดีตรองเลขาธิการฯ ได้แก่นายพายัพ  พยอมยนต์ นายสมเจตน์  เตรคุพ  ดร.อุทิศ  ขาวเธียร  นายธานินทร์  ผะเอม  นางสาวลดาวัลย์  คําภา นางสาวพจณี  อรรถโรจน์ภิญโญ นอกจากนี้ มีผู้บริหารในปัจจุบันเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ดร.วิชญายุทธ  บุญชิต  และนางสาวจินางค์กูร  โรจนนันต์  รองเลขาธิการฯ นางสาวกัญญารักษ์  ศรีทองรุ่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน นายวิชญ์พิพล ติวะตันสกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม และคณะทำงานของ สศช.

สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของ สศช. ได้ทางเว็บไซต์ www.nesdc.go.th, Facebook สภาพัฒน์, Twitter สภาพัฒน์, Line สภาพัฒน์ Update, Email : [email protected] และ ตู้ ปณ.49 ปทฝ.หลานหลวง กรุงเทพฯ 10102