รมว.แรงงาน จัด FULL OPTION ช่วยลูกจ้าง "เดอะวัน ประกันภัย" หลังถูกเลิกจ้าง

รมว.แรงงาน จัด FULL OPTION ช่วยลูกจ้าง "เดอะวัน ประกันภัย" หลังถูกเลิกจ้าง

รมว.แรงงาน สั่งการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ร่วมบูรณาการให้บริการช่วยเหลือลูกจ้าง บริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) หลังถูกบอกเลิกจ้างกะทันหัน แห่ยื่นคำร้องกว่า 300 คน

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.64 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่ กระทรวงการคลังมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้บริษัทบอกเลิกสัญญาจ้างลูกจ้างทั้งหมด 396 คน จาก 19 สาขาทั่วประเทศ

เรื่องดังกล่าวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลภารกิจกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความห่วงใยลูกจ้างบริษัท  "เดอะวัน ประกันภัย" และติดตามสอบถามความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด

จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานร่วมบูรณาการให้บริการช่วยเหลือลูกจ้าง โดยในวันที่ 20 ธันวาคม นี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้นัดลูกจ้างมาที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 ภายในบริเวณกระทรวงแรงงาน ให้บริการรับคำร้องตามแบบ คร.7 เรื่องค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชี้แจงลูกจ้างกรณีสิทธิประโยชน์กรณีเลิกจ้างประชาสัมพันธ์ให้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 10 ขึ้นทะเบียนรับสมัครงาน ขึ้นทะเบียนกรณีว่างงาน ประกาศตำแหน่งงานว่าง และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันพื้นที่ 13 ให้คำปรึกษาสำหรับบุคคลที่สนใจเข้ารับการอบรมฝึกอาชีพด้วย

โดยในช่วงเช้ามีลูกจ้างเข้ารับบริการราว 300 คน สำหรับลูกจ้างของบริษัท ที่อยู่ประจำสาขาในจังหวัดต่างๆ ได้แจ้งให้ไปยื่นคำร้องที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และในช่วงบ่ายได้เชิญนายจ้างมาพบเพื่อตรวจสอบแนวทางการดำเนินการของนายจ้างว่าเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่ หากนายจ้างไม่สามารถจ่ายเงินค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างให้กับลูกจ้างได้ ลูกจ้างมีสิทธิยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกับตัวแทนลูกจ้าง ได้ข้อสรุปว่าลูกจ้างจะเขียนคำร้องตามแบบ คร.7 เรื่องค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี เพื่อคำนวณจำนวนเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้กับลูกจ้าง และจะได้พูดคุยกับนายจ้างว่าสามารถดำเนินการจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างได้หรือไม่

หากนายจ้างไม่ปฏิบัติ พนักงานตรวจแรงงานจะออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติ ซึ่งถึงขั้นตอนนี้ลูกจ้างสามารถยื่นขอใช้สิทธิรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนได้ และใช้สิทธิรับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยปีละไม่เกิน 180 วัน ควบคู่กันไป โดยกรมจะดำเนินการฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญากับนายจ้างต่อไป

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์