กพร. จับมือ CPAC ร่วมบริหารจัดการแหล่งน้ำจากขุมเหมืองสู่ความยั่งยืน

กพร. จับมือ CPAC  ร่วมบริหารจัดการแหล่งน้ำจากขุมเหมืองสู่ความยั่งยืน

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ร่วมกับ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาและการบริหารจัดการแหล่งน้ำจากขุมเหมืองอย่างยั่งยืน หวังยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบพื้นที่เหมืองแร่

นายภานุวัฒน์  ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ เรื่อง “การพัฒนาและการบริหารจัดการแหล่งน้ำจากขุมเหมืองอย่างยั่งยืน” ระหว่างกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมมือกันแลกเปลี่ยนนวัตกรรมและองค์ความรู้เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ต่อยอดโครงการต้นแบบในการบริหารจัดการแหล่งน้ำจากขุมเหมืองเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบเหมืองแร่ให้มีน้ำใช้เพื่ออุปโภคและการเกษตรอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

นายนิรันดร์  ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า กพร. ได้สำรวจขุมเหมืองโดยการประเมินปริมาณน้ำและศักยภาพในการกักเก็บน้ำขุมเหมืองด้วยเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Drone) และเทคโนโลยีเรือสำรวจความลึกใต้น้ำสำหรับการรังวัดจัดทำแผนที่ภูมิประเทศขุมเหมือง พร้อมทั้งวิเคราะห์คุณภาพน้ำของขุมเหมืองทั่วประเทศ

ปัจจุบันมีขุมเหมืองที่มีศักยภาพและสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยกว่า 240 บ่อ มีปริมาตรน้ำไม่น้อยกว่า 218 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งส่วนใหญ่คุณภาพน้ำผ่านเกณฑ์มาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อการนำน้ำไปใช้เพื่อการอุปโภคและเกษตรกรรมได้ โดยจะร่วมมือกับบริษัทฯ ในการขยายผลโครงการต้นแบบไปยังขุมเหมืองอื่น ๆ อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นายปัญญา  โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า CPAC พร้อมสนับสนุนการถ่ายทอดและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงยกระดับความสามารถเข้าสู่ Green Solution เพื่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ ขยายโอกาสในการสร้างธุรกิจ และสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน 

ตามวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจของ SCG ที่ยึดหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) มุ่งสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ตามหลักการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) โดยคำนึงถึงผลกระทบและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น

“การลงนามบันทึกความเข้าใจที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีของทั้งสองหน่วยงานในการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งน้ำจากขุมเหมืองอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชนโดยรอบ สอดรับกับนโยบาย ‘เหมืองแร่เพื่อชุมชน’ ของ กพร.

รวมถึงเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการประกอบการเหมืองแร่ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมและชุมชน” อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย