‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘ทรงตัว’ ที่33.39บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘ทรงตัว’ ที่33.39บาทต่อดอลลาร์

“เงินบาท”เปิดตลาดวันนี้ (14 ธ.ค.) ทรงตัง ที่ 33.39 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ทิศทางตลาดอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว หนุนเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นระยะสั้นหวังวัคซีนบูสเตอร์ลดความเสี่ยงโอมิครอนระบาด มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.35-33.45บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(14ธ.ค.) ที่ระดับ  33.39 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า  มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.45 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดอาจทำให้ เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น ส่วนนักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้ามาเป็นฝั่งซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย แต่เชื่อว่า ความหวังต่อวัคซีนบูสเตอร์ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงปัญหาการระบาดของโอมิครอนก็จะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติไม่ได้เทขายสินทรัพย์ไทยหนักแบบช่วงก่อนหน้า ทำให้ เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ในระยะสั้นนี้ และมีโอกาสที่เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ นี้ ไม่ได้ผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หรือ เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า น้อยกว่าที่ตลาดได้คาดหวังไว้  

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาสัญญาณเชิงเทคนิคัลจากทั้ง RSI และ MACD จะพบว่า เงินบาทก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลังจากที่ไม่สามารถอ่อนค่าทะลุระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ โดยการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา นอกเหนือจากฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาตินั้น เราเชื่อว่าอาจมาจากโฟลว์ขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกในช่วงปลายปีที่ช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท

ทั้งนี้ เรามองว่า แนวรับเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งมองว่ายังพอมีแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้นำเข้าบางส่วน ช่วยพยุงไม่ให้เงินบาทแข็งไปได้เร็ว ยกเว้นว่า นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทหนักขึ้น ซึ่งอาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าได้เร็ว

แนวโน้มธนาคารกลาง โดยเฉพาะเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงความกังวลว่าการระบาดของโอมิครอนอาจกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะสั้น ได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดการเงินขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงและเริ่มกลับสู่โหมดระมัดระวังตัว (Cautious Mode) มากขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ต่างย่อตัวลง โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงราว -1.39% เนื่องจากหุ้นเทคฯ ซึ่งมีระดับ Valuation ที่สูงนั้นจะมีความอ่อนไหวกับแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.91% จากทั้งการปรับตัวลงของหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ รวมถึงหุ้นธีม Reopening อาทิ กลุ่มสายการบินและกลุ่มพลังงาน

ขณะที่ ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ย่อตัวลงราว -0.38% กดดันจากความกังวลว่าแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจอาจชะลอลงหลังรัฐบาลหลายประเทศอาจทยอยใช้นโยบาย Lockdown ที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อควบคุมปัญหาการระบาดของโอมิครอน ส่งผลให้หุ้นในธีม Reopening ต่างปรับตัวลดลง โดยเฉพาะกลุ่มการเดินทางและท่องเที่ยว รวมถึงหุ้นกลุ่มธนาคาร อาทิ Amadeus -3.2%, Airbus -2.4%, Santander -1.6%, BNP Paribas -1.3%

ทั้งนี้ เรามองว่า ความผันผวนในตลาดการเงินมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเพียงระยะสั้นและเชื่อว่าตลาดจะไม่กลับไปปิดรับความเสี่ยงหนักแบบในรอบการรปรับฐานของตลาดที่ผ่านมา หลังผลวิจัยเบื้องต้นระบุว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อจาก โอมิครอน ได้ ซึ่งรายงานดังกล่าวสนับสนุนมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างเชื่อว่าการระบาดของ โอมิครอน อาจจะไม่ได้มีความรุนแรงจนน่ากังวลและวัคซีนที่มีในปัจจุบันยังสามารถรับมือได้ 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้นของผู้เล่นในตลาด ได้หนุนความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงราว 7 bps แตะระดับ 1.42% ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามผลการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองบอนด์อีกครั้ง ซึ่งคาดว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจเลือกที่จะรอให้ผ่านช่วงวันหยุดปลายปีนี้ไปก่อน ที่ตลาดการเงินจะมีธุรกรรมเบาบาง และเริ่มกลับมาเทรดเต็มที่หรือปรับสถานะถือครองอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งเราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของเฟด รวมถึงบรรยากาศตลาดการเงินที่มีโอกาสที่จะกลับมาเปิดรับความเสี่ยง

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ หนุนโดยแนวโน้มเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในระยะสั้นเพื่อหลบความผันผวนในตลาด ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 96.32 จุด ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ไม่ได้กดดันราคาทองคำมากนัก เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนยังเลือกที่จะถือทองคำเพื่อเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ราคาทองคำยังทรงตัวใกล้ระดับ 1,785 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรายังคงมุมมองเดิมว่า upsides ของราคาทองคำอาจเริ่มจำกัด หากตลาดกลับมาเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม รวมถึงเฟดเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้จะเหลือเพียงปัจจัยความกังวลเงินเฟ้อ หรือ แนวโน้มเฟดไม่เร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด ที่จะพอช่วยหนุนให้ราคาทองคำได้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการปรับใช้มาตรการ Lockdown เพิ่มเติมในฝั่งยุโรป สหรัฐฯ รวมถึงประเทศแถบเอเชียที่เริ่มเผชิญยอดผู้ติดเชื้อ COVID ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ 

ทั้งนี้ ไฮไลท์ของข้อมูลเศรษฐกิจจะอยู่ที่ผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัง อาทิ เฟด, ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ,  ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่จะเริ่มมีการรายงานผลการประชุมในวันพฤหัสฯ โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอติดตามว่า บรรดาธนาคารกลางจะมีมุมมองต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างไร ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงการระบาดของโอมิครอน รวมถึงแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น จะนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้าได้หรือไม่