ยกฟ้อง "มายด์ ภัสราวลี" รอดผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุม 21 ต.ค.

ยกฟ้อง "มายด์ ภัสราวลี" รอดผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุม 21 ต.ค.

ศาลพิพากษายกฟ้อง "มายด์ ภัสราวลี" แกนนำ "ม็อบปลดแอก" รอดผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุม 21 ต.ค. ยื่นหนังสือให้นายกฯลาออก เชื่อเป็นบรรทัดฐานคดีต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2564 ที่ศาลแขวงดุสิต ถ.นครไชยศรี ซ.สีคาม ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการคดีแขวงดุสิต เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ม.เทคโนโลยี แกนนำกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และสมาชิกคณะประชาชนปลดแอก เป็นจำเลย ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 รวมทั้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมข้อ 1 ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง กรณีเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2563 จำเลยได้เข้าร่วมการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากการบริหารประเทศ

โดยวันนี้ น.ส.ภัสราวลี ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมให้สัมภาษณ์กับก่อนเข้าห้องพิจารณาว่า ระหว่างการนำสืบตนได้ยืนยันในหลักการของประชาชนที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพราะประชาชนทนไม่ไหว ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนที่ทำได้

น.ส.ภัสราวลี กล่าวอีกว่า ส่วนศาลจะพิจารณาอย่างไรและผลจะออกมาเป็นอย่างไร อยากให้รอติดตาม เพราะคดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการพิพากษาส่วนของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง และคาดว่าจะส่งผลต่อคดีอื่น ๆ ของเพื่อนด้วย คาดว่าผลการตัดสินสามารถออกได้หลายรูปแบบ ทั้งในมุมของการได้รับความยุติธรรมและมุมเกมการเมือง เพราะคดีนี้เป็นคดีทางการเมืองที่ไม่ควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ภายหลังฟังคำพิพากษา น.ส.ภัสราวลี เปิดเผยว่า ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องตน เนื่องจากศาลเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ที่มีการประกาศออกมาจะถูกใช้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์นั้นฉุกเฉินและร้ายแรงจริงๆ ถึงจะบังคับใช้ได้ และการชุมนุมของประชาชนที่เกิดขึ้นในวันนั้น ก็ไม่เข้าข่ายการชุมนุมมั่วสุม เพราะการมั่วสุมต้องเป็นการรวมตัวกันและมีเจตนาที่ไม่ดี การชุมนุมวันนั้นเป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 เป็นการชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถทำได้

น.ส.ภัสราวลี กล่าวอีกว่า ตนมั่นใจว่าคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานส่วนหนึ่งในการตัดสินคดีอีกหลายคดีที่เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะการชุมนุมของประชาชนเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญและสามารถพึงกระทำได้ เชื่อว่าคำพิพากษาส่งท้ายปีในครั้งนี้จะเป็นการเติมกำลังใจให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิของตัวเอง เพราะหลังจากนี้ประชาชนจะมาทวงคืนอำนาจของประชาชนเอง