กางมติ ครม.ปม “นิคมฯ จะนะ” ลายเซ็น “บิ๊กป้อม” หราคนชง - ที่ประชุมรับทราบ

กางมติ ครม.ปม “นิคมฯ จะนะ” ลายเซ็น “บิ๊กป้อม” หราคนชง - ที่ประชุมรับทราบ

กางมติ ครม.ปลายปี 2563 เงื่อนปม “นิคมฯ จะนะ” พบลายเซ็น “บิ๊กป้อม” หราคนชงอ้างถึงเนื้อหา “ธรรมนัส” เจรจา ยกข้อเรียกร้องตาม MOU ด้วยก่อน ครม.แค่ “รับทราบ”

กรณีกลุ่ม “จะนะรักษ์ถิ่น” ยังรวมตัวกันชุมนุมอย่างต่อเนื่องเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง และให้รับฟังปัญหาในโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา ตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2563 กระทั่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ (ขณะนั้น) ไปรับทำสัญญา MOU กับกลุ่มชาวบ้าน เพื่อนำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำเนินการแก้ไขตามข้อเรียกร้อง อย่างไรก็ดีเกือบครบรอบ 1 ปี กลุ่ม “จะนะรักษ์ถิ่น” กลับมาชุมนุมอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาเกิดประเด็นร้อนแรงขึ้น เมื่อตำรวจเข้าสลายการชุมนุม นำไปสู่การโจมตีของฝ่ายค้านอย่างหนักในปัจจุบัน

ประเด็นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยืนยันว่า ครม. ไม่ได้เห็นชอบ MOU ของกลุ่ม “จะนะรักษ์ถิ่น” แค่รับทราบข้อเรียกร้อง โดยกระบวนการต้องทำประชาพิจารณ์ทั้งหมด และรับฟังคนในพื้นที่

ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุว่า ข้อตกลงใน MOU ไม่ใช่สัญญา มีผลผูกพันระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่การยอมรับ อย่างไรก็ตามจำไม่ได้ว่ามีเรื่องนี้เข้าสู่การประชุม ครม.หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องนานแล้ว

กรุงเทพธุรกิจ ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ พบว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0105.04/9397 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2564 เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องของกลุ่ม “จะนะรักษ์ถิ่น” และกลุ่ม P-Move เข้าสู่การประชุม ครม.

โดยในเนื้อหาของหนังสือดังกล่าว สรุปรายละเอียดข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านข้างต้น เช่น รัฐบาลต้องยุติการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อยุติโครงการแล้วต้องจัดให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) อย่างรอบคอบ

ขณะเดียวกันยังอ้างถึงเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ (ขณะนั้น) ได้พบปะเจรจาหาข้อยุติเรื่องนี้กับกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น โดยมีบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกัน เช่น รัฐบาลต้องยกเลิกมติ ครม.ที่เกี่ยวกับการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมนิคมจะนะทุกฉบับ รวมถึงการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในทันที และให้มีการจัดประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) จ.สงขลา

นอกจากนี้ยังให้แต่งตั้งคณะทำงานซึ่งมีสัดส่วนของภาคประชาชน และนักวิชาการที่ภาคประชาชนเสนอในสัดส่วนเหมาะสม รวมถึงการคัดเลือกผู้มาดำเนินการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เป็นต้น

พล.อ.ประวิตร ได้ระบุในข้อพิจารณาในการนำเสนอต่อ ครม. ว่า “กระผมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น เป็นกรณีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่มีผลกระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจำเป็นต้องมีการบูรณาการแก้ไขปัญหาจากหลายหน่วยงาน ในชั้นนี้จึงเห็นควรนำรายงานผลการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหากลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น เสนอต่อที่ประชุม ครม.เพื่อโปรดทราบต่อไป

กางมติ ครม.ปม “นิคมฯ จะนะ” ลายเซ็น “บิ๊กป้อม” หราคนชง - ที่ประชุมรับทราบ

หลังจากนั้นในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ประชุม ครม.ลงมติว่า

1.รับทราบรายงานผลการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นตามที่ พล.อ.ประวิตร เสนอ

2.มอบหมายให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม รับรายงานผลการหารือตามข้อ 1. ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนโดยด่วน และนำเสนอ ครม.ทราบ หรือพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้แจ้งให้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ (ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) ทราบด้วยแล้ว

กางมติ ครม.ปม “นิคมฯ จะนะ” ลายเซ็น “บิ๊กป้อม” หราคนชง - ที่ประชุมรับทราบ

ทั้งหมดคือ ข้อมูลของมติ ครม.เกี่ยวกับการ “รับทราบ” ปัญหาในการก่อสร้างโครงการอุตสาหกรรมนิคมจะนะ ของกลุ่ม “จะนะรักษ์ถิ่น” ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา และหลังจากนั้นนับตั้งแต่ปี 2564 ไม่เคยมีเอกสารอย่างเป็นทางการปรากฏอีกว่า ครม.ได้มีการหารือถึงประเด็นนี้อีก

สำหรับความคืบหน้ากรณีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แต่งตั้ง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” โดยสั่งให้เน้นการตรวจสอบ และรับฟังปัญหาให้ครบทุกมิติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน โดยต้องยึดประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชนในพื้นที่ จะมีบทสรุปเช่นไร ต้องติดตามกันต่อไป

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์