SCG ประกาศจุดยืนผู้นำ ESG ลงทุน 7 หมื่นล้าน ลดปล่อยคาร์บอน 20% ภายใน 2030

SCG ประกาศจุดยืนผู้นำ ESG ลงทุน 7 หมื่นล้าน ลดปล่อยคาร์บอน 20% ภายใน 2030

เอสซีจี ประกาศเดินหน้าธุรกิจพร้อมกู้วิกฤติโลกร้อน ทรัพยากรขาดแคลน และลดความเหลื่อมล้ำ ชูธง ESG 4 Plus “มุ่ง Net Zero - Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ” ลงทุน 70,000 ล้านบาท ปรับปรุงกระบวนการผลิต และพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำ ลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิลง 20% ภายในปี 2030

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญวิกฤติใหญ่หลายด้าน อาทิ อากาศแปรปรวนจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.2 องศา ทรัพยากรทั่วโลกขาดแคลนด้วยจำนวนประชากรที่จะเพิ่มสูงขึ้น 9.6 พันล้านคน และปัญหาปริมาณขยะล้นโลก ขณะที่สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมขยายวงกว้าง คาดว่าปี 2022 คนตกงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 205 ล้านคน เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง นอกจากนี้ยังมีเยาวชนจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา

ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันกู้วิกฤตโลก โดยใช้ ESG ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) กรอบการพัฒนาที่เป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจระดับโลกสอดคล้อง กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ และโมเดลเศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืนของรัฐ หรือ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy)

"ในโอกาสที่ วันนี้ เอสซีจี ก้าวสู่ปีที่ 109 จึงยกระดับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SD (Sustainable Development) เป็นแนวทางดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม สู่แนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่ 1.มุ่ง Net Zero 2.Go Green 3.Lean เหลื่อมล้ำ 4.ย้ำร่วมมือ Plus เป็นธรรม โปร่งใส”

โดยแนวทางที่ 1 มุ่ง Net Zero เอสซีจีมีเป้าหมายมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำอย่างพลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ การใช้ลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต และพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงวิจัยและลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI Supervisory for Energy Analytics) และเตรียมทดลองนำร่องใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage - “CCUS”) เป็นต้น

นอกจากนี้ เอสซีจียังคงเดินหน้าปลูกต้นไม้ลดโลกร้อน 3 ล้านไร่ และป่าโกงกาง 3 หมื่นไร่ ดูดซับ 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมขยายผลไปในอาเซียน รวมถึงสร้างฝายชะลอน้ำ 130,000 ฝาย เพื่อฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ป่าต้นน้ำ และขยายชุมชนการจัดการน้ำยั่งยืนให้ครอบคลุม 50 จังหวัดทั่วประเทศ

แนวทางที่ 2 Go Green มุ่งพัฒนานวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้ทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปด้วยกัน โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ฉลาก SCG Green Choice เป็น 2 เท่าจาก 32% เป็น 67% ภายในปี 2030 อาทิ ปูนงานโครงสร้าง เอสซีจี สูตรไฮบริด ระบบหลังคา SCG Solar Roof Solutions นอกจากนี้ ยังตั้งบริษัท SCG Cleanergy ให้บริการโซลูชันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งแสงอาทิตย์และลม ทั้งในไทยและต่างประเทศ

CPAC Green Solution ช่วยให้ก่อสร้างเสร็จไว ลดของเหลือทิ้งในงานก่อสร้าง SCG Green Polymer นวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ตอบโจทย์ธุรกิจและผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ของเอสซีจีพีทั้งหมดสามารถรีไซเคิล ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ในปี 2050

ซึ่งแนวทางที่ 1. มุ่ง Net Zero และ 2. Go Green เอสซีจีได้ประมาณการเงินลงทุนเบื้องต้น 70,000 ล้านบาท สำหรับการปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาธุรกิจคาร์บอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิลง 20% ภายในปี 2030

แนวทางที่ 3 Lean เหลื่อมล้ำ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการให้แก่ชุมชนรอบโรงงาน และ SMEs 20,000 คน ภายในปี 2025 เช่น อาชีพพนักงานขับรถบรรทุก โดยโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ อาชีพช่างปรับปรุงบ้าน โดย Q-Chang (คิวช่าง) อาชีพแปรรูปผลิตภัณฑ์ และขายสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ผ่านโครงการพลังชุมชน อาชีพผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ นักบริบาลผู้สูงอายุ ผ่านทุนการศึกษาจากโครงการ Learn to Earn โดยมูลนิธิเอสซีจี รวมถึงเสริมความรู้เพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร ด้วย Kubota Smart Farming 

นอกจากนี้ในช่วงโควิด-19 ยังช่วยเหลือ SMEs ให้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม NocNoc.com และ Prompt Plus โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงให้สินเชื่อร้านค้าช่วงและผู้รับเหมารายใหญ่ผ่านแพลตฟอร์ม Siam Saison

แนวทางที่ 4 ย้ำร่วมมือ มุ่งสร้างความร่วมมือขับเคลื่อน ESG กับหน่วยงานระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก อาทิ ร่วมกับไปรษณีย์ไทยและองค์การเภสัชกรรม ในโครงการ “ไปรษณีย์ reBOX” รีไซเคิลกล่องกระดาษเหลือใช้ ร่วมกับ PPP Plastic จัดการขยะพลาสติกเพื่อนำกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล สร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติก ร่วมกับ Unilever เปลี่ยนขยะพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนเป็นพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง สำหรับผลิตขวดบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล ร่วมกับ Global Cement and Concrete Association (GCCA) ลดการปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกเข้าไปในเนื้อคอนกรีตในอุตสาหกรรมซีเมนต์ (Recarbonation: CO2 sink)

โดยล่าสุด ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุม Green Meeting ในงานประชุม APEC2022 และ ASEAN Summit นอกจากนี้ ได้เตรียมจัดงาน ESG Symposium ในไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย เพื่อเชิญชวนทุกภาคส่วนในอาเซียนร่วมขับเคลื่อน ESG ต่อไป Plus เป็นธรรม โปร่งใส

SCG ประกาศจุดยืนผู้นำ ESG ลงทุน 7 หมื่นล้าน ลดปล่อยคาร์บอน 20% ภายใน 2030 ทั้งนี้ เอสซีจีได้ขับเคลื่อนองค์กรตามแนวทาง ESG 4 Plus ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) อย่างต่อเนื่อง ดำเนินทุกกิจกรรมอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และยังเน้นการปลูกฝังไปยังพนักงาน ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร

“เอสซีจีและพนักงานทุกคนคือส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ นับจากนี้ ESG 4 Plus จะเป็นภารกิจสำคัญที่พวกเราจะทุ่มเทความพยายามอย่างสุดความสามารถ ผสานทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ โดยใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีช่วยบรรเทาวิกฤตที่เกิดขึ้นและดูแลสังคมให้ยั่งยืน ซึ่งจะทำไปพร้อมกันทั้ง ESG อย่างไรก็ดี เอสซีจีไม่สามารถแก้ไขวิกฤตได้โดยลำพัง จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมดูแลโลกของเราให้น่าอยู่และส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลานต่อไป เริ่มด้วยกัน เพื่อเรา เพื่อโลกที่ยั่งยืน” นายรุ่งโรจน์กล่าวทิ้งท้าย