"กรีนโซลูชั่น" วัสดุก่อสร้าง ทางเลือกโลว์คาร์บอน “เอสซีจี”

"กรีนโซลูชั่น" วัสดุก่อสร้าง ทางเลือกโลว์คาร์บอน “เอสซีจี”

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นวาระระดับโลกที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน ประชาชน ต่างหันมาพิจารณาลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่ง SCG เป็นหนึ่งในเอกชนรายใหญ่ที่มองเห็นเทรนด์เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ทั้งยังเป็นผู้นำการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างธุรกิจสีเขียว

นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า ธุรกิจซีเมนต์มีความชัดเจนในการนำธุรกิจไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) เนื่องด้วยธุรกิจซีเมนต์ใช้พลังงานมากและมีภาพลักษณ์ด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องผลักดันสู่เป้าหมาย Net Zero เพื่อพลิกโอกาสทางธุรกิจ โดยมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานความร่วมกับความร่วมมือระดับโลก เช่น DTSI (Diversified Technology Solutions International) WBCSD (World Business Council for Sustainable Development)

“เทรนด์ของโลกทำให้เราปฏิเสธที่ทำจะเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ เมื่อทำก็จะทำให้เราได้ประโยชน์ แต่ถ้าไม่ทำก็กลายเป็นถูกทิ้งไว้ข้างหลัง" 

ซึ่งนอกจากไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังต้องทำให้เกิดผลบวกแก่สังคม โดยหาความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น Global Cement and Concrete Association (GCCA) ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทั่วโลก เพื่อเรียนรู้จากผู้นำด้านเทคโนโลยี

พลังงานหมุนเวียน

“เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ได้นำความร้อนเหลือที่ถูกปล่อยออกจากปล่องโรงผลิตปูน อุณหภูมิราว 200 องศาเซลเซียส ดึงกลับมาปั่นไฟใช้งานในการผลิตซีเมนต์อีกครั้ง เรียกว่า WHG หรือ Waste Heat Generator ซึ่งใช้เงินลงทุนหลายพันล้านบาท”

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น กะลาปาล์ม เหง้ามัน ต้นปาล์ม ใยปาล์ม ใบอ้อย เพื่อเป็น "เชื้อเพลิงชีวภาพ" ในการเผาปูนเม็ด โดยเข้าเตาเผาที่ใช้อุณหภูมิสูงสุด 1,450 องศาเซลเซียส ซึ่งเริ่มนำมาใช้ได้ 15 ปีแล้ว โดยมีความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ 1 ล้านตันต่อปี

รวมทั้งได้ผลิตไฟฟ้า “พลังงานแสงอาทิตย์” ปีที่ 9 ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มในโรงงานซีเมนต์และมีกำลังการผลิตเกือบ 60 เมกะวัตต์ ซึ่งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมซีเมนต์อาเซียน 

ทั้งนี้ เอสซีจีใช้พลังงานหมุนเวียนจากความร้อนที่เหลือร่วมกับโซลาร์ฟาร์ม 250 เมกะวัตต์ ทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละเกือบ 1 แสนตัน

นวัตกรรมปูนซีเมนต์

สำหรับการออกผลิตภัณฑ์ SCG Green Choice เพื่อจะเป็นตัวเลือกในการก่อสร้าง เช่น ปูนงานโครงสร้างแบบไฮดรอลิกซีเมนต์ โดยต้องผลักดันให้เปลี่ยนมาใช้สูตรนี้ ซึ่งภาคเอกชนเปลี่ยนได้ง่ายเพราะมีคุณสมบัติดีกว่าเดิมและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง ขณะที่งานก่อสร้างภาครัฐที่ใช้ปูนซีเมนต์ประเภทเดิม ซึ่งต้องรอให้เข้าไปอยู่ในรายชื่อของกรมบัญชีกลาง

“เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ได้ยกเลิกการผลิตปูนถุงปอร์ตแลนด์ที่ใช้มานาน 100 กว่าปี ตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานที่บางซื่อ ตอนนี้เราหันมาใช้สูตรใหม่คือสูตรไฮบริดทั่วประเทศ ซึ่งปีนึงถ้าใช้ตัวนี้เข้าไปทดแทนจะปล่อยก๊าซลง 6 แสนตันต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกป่า 60 ล้านต้น”

นอกจากนี้ ยังมีปูนที่ผลิตด้วยนวัตกรรมที่หลากหลาย เช่น ปูนเรืองแสงลดใช้พลังงาน ปูนที่โดนน้ำแล้วขึ้นลาย ซึ่งมีประโยชน์ช่วงฝนตกเพื่อใช้ในการสื่อสารเรื่องความปลอดภัย และล่าสุดมีปูนที่ใช้กับเครื่องปริ้นท์เตอร์ 3D Printing

”ธุรกิจซีเมนต์กับคอนกรีตเกิดการทรานส์ฟอร์มสู่ระบบออโตเมชั่นได้ 4 ปี แล้ว โดยช่วง 2 ปีแรก ลงทุน Industrial 4.0 ด้านการเชื่อมโยงข้อมูลและออโตเมชั่นในโรงงาน ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะทรานส์ฟอร์มเต็มรูปแบบอีก 2 ปี โดยดึงผู้ที่เคยทำงานในธุรกิจซีเมนต์ครึ่งหนึ่งย้ายออกมาทำธุรกิจด้านกรีนโซลูชั่น เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้เท่ามาตรฐานโลก”

เนื่องจากเห็นโอกาสของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยซึ่งมีช่องว่างที่จะพัฒนาด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความสูญเสีย ด้านเวลา วัสดุเหลือใช้จากการแก้งาน ดอกเบี้ยงอกเงย ซึ่งไทยมีความสูญเสียจากการก่อสร้าง 20% จากมูลค่าตลาด 1 ล้านล้านบาท หรือมีความสูญเสีย 2 แสนล้านบาท เอสซีจีนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานก่อสร้างเพื่อให้เกิดธุรกิจกรีนโซลูชั่น โดยเป็นคนกลางระหว่างเจ้าของบ้าน นักออกแบบ วิศวกร และผู้รับเหมาที่จะได้ประโยชน์จาก 2 แสนล้าน โดยใช้เทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling)

สำหรับเทคโนโลยี BIM นำมาใช้บนการออกแบบ Digitization โดยทุกฝ่ายออกแบบพร้อมกันทั้งสถาปนิก วิศวกร ช่างและลูกค้า ซึ่งช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องชมงานออกแบบได้เสมือนจริงทำให้เกิดข้อผิดพลาดและลดการสูญเสียทรัพยากร โดยเอสซีจีร่วมทุนกับ BIMobject Sweden เพื่อให้งานมีมาตรฐานระดับโลก และผู้บริโภคยังได้บ้านราคาเท่าเดิม แต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและลดเวลาทำงาน 20-30%

นอกจากนี้ยังใช้อุปกรณ์สำคัญที่ใช้งานร่วมกับการออกแบบ คือ 3D Printing เข้ามาช่วยลดวัสดุเหลือจากงานก่อสร้าง สามารถขึ้นรูปโครงสร้างที่ซับซ้อนได้

“นวัตกรรม 3D Printing สร้างอาคารชั้นเดียวโดยใช้เวลาทำงาน 7 วัน ไม่รวมส่วนหลังคา ทั้งยังลดความสูญเสียวัสดุเหลือศูนย์ ซึ่งโดยปกติแล้วงานก่อสร้างจะเกิดวัสดุเหลือใช้ 20-30% ของวัสดุก่อสร้างที่จัดซื้อมาทั้งหมด"

เศรษฐกิจหมุนเวียนยังโตได้อีก

ธุรกิจ Green Circularity เกิดขึ้นด้วยเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเหลือศูนย์ โดยมีการตั้งบริษัท SCIeco เป็นผู้ให้บริการกำจัดขยะอุตสาหกรรมซึ่งนำไปเผาร่วมกับการผลิตปูนซิเมนต์ที่ใช้ความร้อน 1,300 องศาเซลเซียส แล้วหินปูนยังดูดสารพิษไดออกซินและซัลเฟอร์ โดยธุรกิจดังกล่าวมียอดขาย 1 พันกว่าล้านบาท

ทั้งนี้ เอสซีจีขายผลิตภัณฑ์กลุ่มธุรกิจกรีนเพิ่มขึ้น โดยเน้น Green Circularity ที่มีมูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาท และมีศักยภาพเติบโต

“อุตสาหกรรมซีเมนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มหัศจรรย์คือมีแรงกดดันสูง จากการที่เป็นผู้ใช้พลังงานเยอะและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แต่ในขณะเดียวกันพอเราพลิกมาเป็นมุม Green Circularity แล้วใช้จุดแข็งของโรงซีเมนต์เรื่องความร้อนและคุณสมบัติทางเคมี ทีนี้พอนำวัตถุดิบเข้าไปผ่านนกระบวนการแล้วมันกลับสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความรักษ์โลกและไม่มีสารพิษได้”

นายชนะ ทิ้งท้ายว่า อยากให้รัฐเร่งอนุมัติกฎระเบียบการใช้วัสดุ Green Choice เช่น ปูนซีเมนต์สูตรไฮบริด รวมถึงออกมาตรการจูงใจด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้สินค้าสีเขียว และเป็นการสนับสนุนบริษัทที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน