ดาวโจนส์พุ่ง 492 จุดคลายกังวล "โอมิครอน"

ดาวโจนส์พุ่ง 492 จุดคลายกังวล "โอมิครอน"

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร(7ธ.ค.)พุ่งขึ้น 492 จุดขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 492.40 จุด หรือ 1.4% ปิดที่ 35,719.43 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 2.07% ปิดที่ 4,686.75 จุด เป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุดของดัชนีเอสแอนด์พี500 นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นมา และดัชนีแนสแด็ก ทะยาน 3% ปิดที่ 15,686.92 จุด เป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดของดัชนีแนสแด็ก นับตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 600 จุดเมื่อวันจันทร์(6ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หลังจากนายแพทย์แอนโทนี เฟาชี แพทย์ใหญ่ประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าไวรัสโอมิครอนก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง โดยการแสดงความเห็นดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจ เช่น หุ้นกลุ่มสายการบินและกลุ่มอุตสาหกรรม

ด้านเจพีมอร์แกน เชส ออกรายงานแนะนำให้นักลงทุนเข้าช้อนซื้อหุ้นกลุ่มเปิดประเทศและกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ โดยระบุว่า แม้ว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีความรุนแรงน้อยกว่า ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบวิวัฒนาการของไวรัสในอดีต และเป็นการส่งสัญญาณว่าการแพร่ระบาดใกล้ยุติแล้ว ซึ่งจะทำให้โควิด-19 กลายเป็นเพียงโรคที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเท่านั้น

แบงก์ ออฟ อเมริกา เปิดเผยว่า สถิติในอดีตบ่งชี้ว่า เดือนธ.ค.เป็นเดือนที่ตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นร้อนแรงมากที่สุดของปี

ข้อมูลระบุว่า ดัชนีเอสแอนด์พี 500 พุ่งขึ้นเฉลี่ย 2.3% ในเดือนธ.ค.นับตั้งแต่ปี 2479 และดัชนีปรับตัวเป็นบวกในเดือนธ.ค.คิดเป็นสัดส่วน 79% นับตั้งแต่ปีดังกล่าว

การดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในเดือนธ.ค.ได้รับปัจจัยบวกจากปรากฎการณ์ "ซานต้า แรลลี่" ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นเวลา 7 วันทำการ โดยมีขึ้นในช่วง 5 วันทำการสุดท้ายของปีปัจจุบัน รวมทั้ง 2 วันแรกของปีใหม่

จากการรวบรวมสถิติการปรับตัวของตลาดหุ้นนิวยอร์กช่วง 7 วันของซานต้า แรลลี่ พบว่า ดัชนีดาวโจนส์สามารถปิดตลาดในแดนบวกถึง 78% นับตั้งแต่ปี 2471

ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 14-15 ธ.ค.

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะปูทางให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด

นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดอาจปรับลดวงเงินคิวอีมากกว่าเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยเฟดจะมีการหารือกันในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนนี้

โกลด์แมน แซคส์ ออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดจะเพิ่มการปรับลดวงเงินคิวอีเป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยจะปูทางให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.2565 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ที่สหรัฐเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ในวันศุกร์นี้ โดยดัชนีดังกล่าวเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งหากสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ ก็จะเป็นปัจจัยทำให้เฟดเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย