ที่ปรึกษาชี้ปี 65 ดีลซื้อขายสินทรัพย์คึกคัก กำเงินขยายธุรกิจ

ที่ปรึกษาชี้ปี 65 ดีลซื้อขายสินทรัพย์คึกคัก กำเงินขยายธุรกิจ

“ไทยพาณิชย์” ชี้ ปีหน้าเทรนด์การซื้อ-ขายสินทรัพย์คึกคัก จ่อปิดบิ๊กดีลเพิ่ม บล.กสิกรไทย คาดปีหน้า บจ.ขายสินทรัพย์ต่อเนื่องมูลค่าพัน-หมื่นล้าน ขณะที่ไตรมาส4/64 พบ 12 บจ.ตัดขายทรัพย์สิน 1.9 หมื่นล้าน บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี คาดหุ้นไทยรีบาวด์ต่อเนื่อง

ในปีนี้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีการประกาศขายสินทรัพย์ต่อเนื่อง ล่าสุด บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) ขายโรงแรม 2 แห่ง ทำให้ในไตรมาส 4 ปี 2564 (ต.ค. - พ.ย.) พบ 12 บจ.ขายสินทรัพย์มูลค่ารวมกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท

โดยบริษัทที่มีมูลค่าจำหน่ายสินทรัพย์มากที่สุด คือ บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท รองลงมา บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ (CGD) 5.4 พันล้านบาท และบมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) 925 ล้านบาท

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอน ภายหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่และยังมีข้อมูลจำกัด

แต่ลูกค้าหลายบริษัทยังเดินหน้าเตรียมความพร้อมตามแผนปี 2565 ในการขยายธุรกิจ ส่วนธุรกิจที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนหนึ่งยังรอความชัดเจนของโควิด-19 ที่กลายพันธุ์

สำหรับปัจจุบันยังมีลูกค้าเข้ามาขอคำปรึกษาทั้งเพื่อซื้อและขายสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง แต่เหตุผลส่วนใหญ่ยังเป็นเพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ส่วนการขายสินทรัพย์เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังมีน้อย

โดยที่ผ่านมาธนาคารได้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาผู้ซื้อรายใหญ่หลายราย เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งในไปป์ไลน์ของบริษัทยังมีดีลซื้อขายสินทรัพย์ขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการต่อเนื่องคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปี 2565

อย่างไรก็ดี สำหรับลูกค้าของธนาคารที่มีขายสินทรัพย์มีหลากหลายเหตุผล นอกเหนือจากการตุนสภาพคล่อง เช่น การขายสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักออกไปเพื่อปรับแผนธุรกิจระยะยาว

การขายสินทรัพย์เพื่อหันมาดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ Asset-light หรือไม่เน้นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงแบบที่นิยมกันในอดีตรวมถึงการขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ เพื่อนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้น   

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ว่าในปี 2564 ภาคธุรกิจจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้บางรายมีปัญหาทางการเงิน

แต่ไม่ใช่ทุกบริษัทที่ขายสินทรัพย์เพราะขาดสภาพคล่อง โดยลูกค้าที่เป็นผู้ขายส่วนใหญ่มีทั้งการขายเพื่อนำเงินที่ได้ไปกระจายการลงทุนในธุรกิจใหม่ หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่เข้ามาขอคำปรึกษาและอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อทำการซื้อขายสินทรัพย์หลายราย เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ บจ.นิยมใช้ในการขยายธุรกิจ เช่น บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ที่มีแผนซื้อโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาเติมในพอร์ตเป็นประจำ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ลูกค้าของ บล.กสิกรไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้ซื้อมากกว่าผู้ขาย กระจายอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม หรือสื่อสาร

ล่าสุด บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ที่เพิ่งปิดดีลซื้อธุรกิจอาหาร โดยคาดว่าในปี 2565 และปีถัดๆ ไป จะเห็นความชัดเจนของดีลการซื้อขายสินทรัพย์ของ บจ.อย่างต่อเนื่อง มูลค่าประมาณ 1,000-10,000 ล้านบาท

ความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทยวานนี้ (2 ธ.ค.64) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.12 จุด มาปิดที่ 1,590.81 จุด มูลค่า 93,864.33 ล้านบาท 

นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอ​เอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทย เริ่มกลับมารีบาวด์ขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นการรีบาวด์ระยะสั้น หลังนักลงทุนคลายความกังวล ความตกใจจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ประกอบกับหลายประเทศ รวมถึงไทย มีการตั้งรับในการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือได้รวดเร็ว ดังนั้นเชื่อว่า จะสามารถรับผลกระทบที่มาจากโอมิครอนได้ระดับหนึ่ง

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ (2 ธ.ค.) มีโอกาสรีบาวด์ขึ้นต่อได้ หากโอไมครอนไม่ได้รุนแรงมากนัก โดยให้กรอบดัชนีอยู่ที่ 1,595-1,600 จุด และแนวรับที่ 1,580 และ 1,572 จุดเป็นแนวรับถัดไป