ทอท.อุ้มคู่ค้า 2 พันสัญญา เพิ่มรายได้ปีหน้า 3 พันล้าน

ทอท.อุ้มคู่ค้า 2 พันสัญญา  เพิ่มรายได้ปีหน้า 3 พันล้าน

ทอท.ปรับประมาณการณ์ผู้โดยสารฟื้นตัวปี 2566 อ้างเหตุต่ออายุมาตรการอุ้มผู้ประกอบการ 2 พันสัญญา ลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่ม 1 ปี หวังสร้างรายได้ปีหน้าเพิ่ม 3 พันล้านบาท ชี้ไม่เยียวยาอาจทำให้คู่ค้าหาย 52% เชื่อ “โอมิครอน” ไม่ฉุดการบินเพิ่ม

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงและยาวนานในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ ทอท.ได้ปรับประมาณการปริมาณผู้โดยสารฉบับล่าสุดในเดือน ต.ค.2564 คาดว่าผู้โดยสารจะฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยประมาณการณ์ไว้ราว 1 ปี โดยในปีงบประมาณ 2565 คาดการณ์ว่าผู้โดยสารจะอยู่ที่ 62.13 ล้านคน ลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ 113.1 ล้านคน

อีกทั้งยังคาดว่าอุตสาหกรรมการบินจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2566 และกลับมามีผู้โดยสารในระดับ 120 ล้านคน ส่วนในปี 2567 จะมีผู้โดยสารเดินทางเพิ่มขึ้นเป็น 143 ล้านคน ซึ่งจะใกล้เคียงกับปริมาณผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงในปีงบประมาณ 2562 ที่เป็นช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และมีผู้โดยสารรวม 141.87 ล้านคน

อย่างไรก็ดี จากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารใหม่ดังกล่าว พบว่าในปี 2565 จะมีผู้โดยสารเพียง 44% ของปริมาณผู้โดยสารในปี 2562 โดย ทอท.จึงเห็นควรให้เลื่อนวันสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ จากเดิมจะสิ้นสุดใน 31 มี.ค.2565 ออกไปอีก 1 ปี โดยจะไปสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค.2566 อาทิ การปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่รายเดือน/รายปี

รวมไปถึงมาตรการปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละและมีการกำหนดค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนหรือรายปี ให้เรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ โดยยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนหรือรายปี และมาตรการยกเว้นและการปรับลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริ

อ้างเหตุจำเป็นต่ออายุอุ้มคู่ค้า

“ตอนต้นปี 2563 เราประเมินว่าโควิดจะฟื้นสิ้นตารางบินฤดูหนาว ช่วงแรกที่ประสบปัญหาเราก็ยกเลิกการเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) โดยเก็บตามสภาพการขายสินค้าจริง ตอนนั้นประเมินว่าปี 2565 ผู้โดยสารจะกลับมา 113-116 ล้านคน หรือ 120 ล้านคน และในวันที่ 1 เม.ย.2565 จะขอกลับมาเก็บรายได้เท่าปี 2562 ที่มีผู้โดยสาร 160 ล้านคน ซึ่งผู้ประกอบการก็ยอม”

ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง พบว่าโควิดรุนแรงและยาวนาน โดยในปี 2565 ประเมินผู้โดยสารจะกลับราว 60 ล้านคน และคาดปี 2566 จะกลับมาประมาณ 120 ล้านคน ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ ทอท.เคยประมาณการณ์ไว้ว่าหากปริมาณผู้โดยสารฟื้นตัวในระดับนี้จะกลับมาเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) เทียบเท่าสถานการณ์ปกติ ทำให้ภาพรวมตอนนี้ ทอท.จึงออกมาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการ เลื่อนเวลาฟื้นตัวออกไปอีก 1 ปี

นอกจากนี้ จากการเปิดน่านฟ้า 1 พ.ย.2564 สิ้นปีงบประมาณในเดือน ก.ย.2564 พบว่าผู้โดยสารหายไป 1 ใน 3 ของปริมาณผู้โดยสารปกติ และมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากหายไป 1 ใน 3 หรือราว 900 สัญญาจาก 2,000 สัญญา อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการไม่กล้ากลับมาเปิดร้านอีก 50% เพราะรายได้ยังไม่ฟื้นตัว แต่การเปิดกิจการจะเริ่มมีรายได้จากการรีโนเวทร้าน และการจ้างพนักงาน

หวั่นไม่เยียวยาคู่ค้าหาย52%

ทั้งนี้ จะทำให้ ทอท.ต้องพิจารณามาตรการเพิ่มเติม ถ้าหากไม่ยืดมาตรการออกไป และกลับมาขึ้นราคาเก็บ Minimum Guarantee เทียบเท่าปี 2562 อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการ และสายการบินต้องเลิกกิจการอีกจำนวนมาก จากข้อมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ ทอท.ที่มีผู้เช่าและพื้นที่ว่างในปัจจุบัน พบว่าพื้นที่ว่างแล้วราว 26.41% หรือประมาณ 1.13 แสนตารางเมตร ส่วนผู้ประกอบการที่หยุดประกอบกิจการชั่วคราวมีสัดส่วน 26.84% หรือประมาณ 1.15 แสนตารางเมตร

ดังนั้นหากไม่มีมาตรการพยุง ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะหายไปรวมกว่า 52% จะทำให้รายได้ของ ทอท.ลดลง และหากจะหาผู้ประกอบการรายใหม่ให้กลับมาเปิดบริการเต็มพื้นที่ 100% รวมกว่า 4.3 แสนตารางเมตร คาดว่าต้องใช้เวลาราว 10 ปี ขณะที่การออกมาตรการพยุงผู้ประกอบการในครั้งนี้ ทอท.ประเมินว่าจะสร้างรายได้นอกเหนือธุรกิจการบิน (นอนแอโรว์) ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 3 พันล้านบาท และในปี 2566 เพิ่มเป็น 6 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับการไม่ดำเนินมาตรการและปล่อยให้ผู้ประกอบการเลิกประกอบกิจการ

ทอท.อุ้มคู่ค้า 2 พันสัญญา  เพิ่มรายได้ปีหน้า 3 พันล้าน

พ่วงเยียวยา“คิงเพาเวอร์”

นายนิตินัย กล่าวว่า มาตรการพยุงผู้ประกอบการครั้งนี้ รวมสัญญาประกอบกิจการของกลุ่มคิงเพาเวอร์ด้วย โดยจะได้รับสิทธิเลื่อนการเก็บ Minimum Guarantee ออกไปอีก 1 ปี และเลื่อนสัญญาบริหารออกไปอีก 1 ปี ซึ่งเกิดจาก ทอท.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่อาคารเทียบเครื่องบินรอง (แซทเทิลไลท์) ให้คิงเพาเวอร์ได้ตามกำหนด เพราะจะเลื่อนไป 1 ปี ไปเปิดบริการ เม.ย.2566 เนื่องจากเปิดในช่วงเวลาที่ยังไม่มีปริมาณผู้โดยสารจำนวนมากก็ไม่คุ้มค่า และเสียค่าใช้จ่ายเดือนละกว่า 300 ล้านบาท

“คิงเพาเวอร์ไม่ได้อะไรกับการออกมาตรการครั้งนี้ เพราะการเลื่อนสัญญาเกิดจากแซทเทิลไลท์อยู่แล้ว และคิงเพาเวอร์ก็เสียเงินเป็นผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing Per head) และจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง คือรายได้คิดตามหัวผู้โดยสารอยู่แล้ว”

เมินผลกระทบ“โอมิครอน”

ขณะที่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน เบื้องต้นยังเห็นสัญญาณการเดินทางของผู้โดยสารในประเทศเช่นเดิม จึงมองว่าในประเทศดูเหมือนไม่ทำให้คนไทยกลัวในการเดินทาง คาดว่า 3-4 เดือนข้างหน้า ถ้าไม่มีอะไรรุนแรงเกิดขึ้นอีก คนไทยจะกลับมาเดินทางเหมือนก่อนเกิดโควิดื ส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศ ตอนนี้เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากเดิมมีปริมาณการเดินทางขาเข้าราว 2 พันคนต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 4 พันคนต่อวัน และในเดือน ธ.ค.นี้ มีเที่ยวบินยืนยันการเดินทางเพิ่ม 20%

นายนิตินัย กล่าวว่า สิ่งที่เรายังหวัง คือการแปลงพันธุ์ของโอไมครอนครั้งนี้จะอยู่ในลักษณะ Friendly human แต่ในภาพรวมก็ประเมินว่าไม่น่าจะมีอะไรกระทบอุตสาหกรรมการบินให้แย่ไปกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาเหมือนผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว น่าจะถึงเวลาของการเริ่มฟื้นตัว จากสัญญาณเหล่านี้ทำให้ ทอท.มั่นใจว่ากรอบวงเงินกู้ที่บอร์ดอนุมัติไว้ 2.5 หมื่นล้านบาท น่าจะมีการกู้จริงไม่ถึงกรอบกำหนด เพราะจะมีรายได้จากการพยุงผู้ประกอบการด้วย

ส่วนความคืบหน้าโอนสนามบินอุดรธานี บุรีรัมย์ และกระบี่ คาดว่าในเดือน ม.ค.นี้ จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณา ปรับมติ ครม.เดิมที่กำหนดให้โอนสิทธิบริหาร 4 สนามบิน ให้เป็น 3 สนามบิน เบื้องต้น ทอท.กำหนดคอนเซ็ปต์ของการพัฒนาโดยแบ่งเป็น สนามบินอุดรธานี และบุรีรัมย์ คอนเซ็ปต์สร้างฮับใหม่ที่อีสานเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน ส่วนกระบี่สร้างเพื่อรองรับดีมานด์ที่ภูเก็ต 

ทอท.อุ้มคู่ค้า 2 พันสัญญา  เพิ่มรายได้ปีหน้า 3 พันล้าน