หมอยง ชี้วัคซีนลูกผสมอาจช่วยต้าน "โควิดสายพันธุ์โอไมครอน" ได้

หมอยง ชี้วัคซีนลูกผสมอาจช่วยต้าน "โควิดสายพันธุ์โอไมครอน" ได้

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) โพสต์ข้อความพูดถึง "โควิดสายพันธุ์โอไมครอน" หวังวัคซีนลูกผสมจะสามารถต้านไวรัสกลายพันธุ์ได้

(30 พ.ย.2564) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความพูดถึง "โควิดสายพันธุ์โอไมครอน" หวังวัคซีนลูกผสมจะสามารถต้านไวรัสกลายพันธุ์ได้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- จับตา“โอไมครอน” ขย่ม“ราคาน้ำมัน”ผันผวนสวนปาล์มค้านปรับสูตรไบโอดีเซล

- พันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" ปัจจัยเสี่ยงฟื้นประเทศ

- WHO เตือนโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" สร้างความเสี่ยงสูงต่อทั้งโลก

 

โดย "หมอยง" ได้เล่าถึง "โควิดสายพันธุ์ใหม่" โอไมครอน (Omicron) ระบุว่า พอได้ข่าวว่าไวรัสตัวนี้กลายพันธุ์ไปถึง 50 ตำแหน่ง และบริเวณหนามแหลมสไปท์ มีการเปลี่ยนแปลงไปมากถึง 30 ตำแหน่ง ฟังดูแล้วน่าตกใจ จริงๆแล้วการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในกลุ่ม RNA ไวรัส สำคัญที่ว่าตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงนั้น ทำหน้าที่อะไร มีความสำคัญแค่ไหนมากกว่าจำนวนที่เปลี่ยนแปลง

 

ไวรัสตัวนี้มีพันธุกรรมทั้งสิ้นรวมหมดเกือบ 30,000 นิวคลีโอไทด์ ถ้าเปลี่ยนแปลงไป 50 หรือ 100 ต่อ 30,000 ก็มีความเป็นไปได้ เพราะผ่านมา 2 ปี แต่ที่สำคัญเวลาพูดถึงหนามแหลมสไปท์ จะมีประมาณ 4,000 นิวคลีโอไทด์ และเป็นกรดอะมิโนประมาณ 1,270 กรดอะมิโน การเปลี่ยนแปลงไป 30 ใน 1,270 ถ้าบอกว่า 30 ดูว่าเยอะก็ได้ เป็นเรื่องธรรมดาก็ได้ แต่สำคัญขึ้นอยู่กับว่าเปลี่ยนแปลงตำแหน่งไหนมากกว่า

 

การเปลี่ยนแปลง 30 ใน 1,270 รูปร่างโครงสร้างของหนามแหลมสไปท์ ก็ยังคงรูปร่างเดิม แต่ทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น เหมือนเช่น มนุษย์เรา ก็ยังคงเป็นมนุษย์ แต่หน้าตา ถ้ามีการแต่งเติมเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง หล่อขึ้น หรือขี้เหร่ ก็มีความเป็นไปได้ เมื่อมองจากภายนอก ก็ยังคงเป็นมนุษย์อยู่นั่นเอง ความจำ ถ้าเจอหน้าเจอตาที่มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ก็ยังจำได้ว่าเป็นใคร ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนรูปร่างไม่เหมือนเดิม หาเป็นเช่นนั้นไม่

 

 

ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในหนามแหลมสไปท์ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นในส่วนนี้อาจจะลดลงไปบ้าง ไม่ใช่หายหมดอย่างสิ้นเชิง เช่น ถ้าเรามีภูมิต้านทานสูงเราป้องกันได้ 90% เจอสายพันธุ์ใหม่ก็อาจจะลดลงเหลือ 80% และถ้าภูมิต้านทานต่ำลงเปอร์เซ็นต์ก็จะต่ำลงตามอัตราส่วนลงมา อย่างในอดีตสายพันธุ์อู่ฮั่นที่ใช้ทำวัคซีนก็ยังสามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องการระดับภูมิต้านทานที่สูงขึ้น

 

ทำนองเดียวกันสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ภูมิต้านทานป้องกันลดลง ก็อาจจะจำเป็นที่ต้องมีภูมิต้านทานสูงไว้ก่อน หรือถ้าลดลงมาก ตัววัคซีนเองก็ต้องเปลี่ยนสายพันธุ์ไปเลย ต้องใช้สายพันธุ์ตัวใหม่ Omicron รอการศึกษา

 

การป้องกันในระบบภูมิต้านทาน คงไม่ได้ใช้ระบบภูมิต้านทานต่อหนามแหลมสไปท์เท่านั้น ในไวรัสทั้งตัว มีโปรตีนชิ้นส่วนต่างๆทั้งโครงสร้างและไม่ใช่โครงสร้างมากถึง 25 ชิ้น หนามสไปรท์เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อยู่ยื่นออกมาไว้เกาะกับเซลล์มนุษย์ วัคซีนมีจุดมุ่งหมายสร้างภูมิต้านทานมาขัดขวาง แต่ความเป็นจริงระบบภูมิต้านทาน อาจจะจำเป็นที่จะต้องใช้ต่อส่วนอื่นของตัวไวรัส เช่น ส่วนเปลือก envelope ส่วน nucleocapsid และจะมีอื่นๆที่เราไม่รู้ ทำไมระบบภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อ จะปกป้องได้ดีกว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนที่ทำมาจากส่วนสไปท์เท่านั้น เพราะมีภูมิต้านทานต่อไวรัสทั้งตัวไม่ใช่มีแค่หนามแหลมสไปท์

 

การติดเชื้อ สร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ถ้าร่วมกับ ภูมิต้านทานจากวัคซีน จะมีระดับภูมิต้านทานที่สูงมาก ที่เรียกว่าเป็นภูมิต้านทานแบบลูกผสม hybrid immunity และสามารถป้องกันได้ดีกว่า

 

ในทำนองเดียวกันการให้วัคซีนเชื้อตาย เป็นการจำลองการติดเชื้อ มีภูมิต้านทานต่อทั้งตัวไวรัส รวมหนามแหลมด้วย และเมื่อร่วมให้กับวัคซีนอื่น ที่เป็นหนามแหลมสไปรท์ ก็น่าจะอนุมานได้ว่าทำไมภูมิต้านทานจึงสูงขึ้นมาก และน่าจะเป็นแบบภูมิต้านทานลูกผสม hybrid immunity

 

ในอนาคตเชื่อว่าการศึกษาภูมิต้านทานแบบลูกผสม น่าจะช่วยในการสนับสนุน ป้องกันการกลายพันธุ์ของไวรัส เพราะระบบภูมิต้านทานในการต่อสู้กับไวรัส ไม่มีเฉพาะแค่หนามแหลมสไปท์อย่างเดียวเท่านั้น

 

บ้านเรามีวัคซีนหลากหลายมาก การใช้วัคซีนแบบลูกผสม อาจจะดีต่อไวรัสกลายพันธุ์ก็ได้