เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เสด็จแทนพระองค์ ทรงวางพวงมาลาพระบรมราชานุสรณ์ ร.6

เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เสด็จแทนพระองค์ ทรงวางพวงมาลาพระบรมราชานุสรณ์ ร.6

เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เสด็จแทนพระองค์ ทรงวางพวงมาลาพระบรมราชานุสรณ์ ร.6 สวนลุมพินี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต

เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เสด็จแทนพระองค์ ทรงวางพวงมาลาพระบรมราชานุสรณ์ ร.6

วันนี้ (25 พ.ย. 64) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ทรงวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

เวลา 19.04 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินออกจากวชิราวุธวิทยาลัย เขตดุสิต ไปยังพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สวนลุมพินี ทรงวางพวงมาลา เนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี

เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เสด็จแทนพระองค์ ทรงวางพวงมาลาพระบรมราชานุสรณ์ ร.6

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงวางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพวงมาลาส่วนพระองค์ จากนั้นทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรุงเทพมหานคร และประชาชนร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ

เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เสด็จแทนพระองค์ ทรงวางพวงมาลาพระบรมราชานุสรณ์ ร.6

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ที่ 2 ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคตเมื่อเวลา 01.45 น. ของวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระชนมพรรษาเป็นปีที่ 46 เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ 15 พรรษา และทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อสวรรคตแล้วว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า 

พระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อาทิ มีพระราชดำรัสสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ทั่วพระราชอาณาจักร โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองจำลองดุสิตธานี ขึ้นภายในพระราชวังดุสิต เป็นที่ทดลองการปกครองแผนใหม่ เพื่อให้ข้าราชการรู้จักการใช้สิทธิในการปกครองตนเอง การจัดทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2445 และประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 เพื่อให้คนไทยทุกคนใช้นามสกุล

เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เสด็จแทนพระองค์ ทรงวางพวงมาลาพระบรมราชานุสรณ์ ร.6

ทรงเร่งก่อตั้งกองทัพสยามให้เป็นกองทัพสมัยใหม่ตามแบบยุโรปและทรงยกร่างพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2448 เพื่อเกณฑ์ชายฉกรรจ์เข้ารับราชการทหาร ทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 โดยมีจุดมุ่งหมายเกี่ยวกับการรักษาดินแดนของประเทศเป็นสำคัญ มีพระบรมราชาธิบายว่าเสือป่า นั้น คือทหารที่ท่านใช้ไปสืบข่าวข้าศึก และพระราชทานกำเนิดกิจการลูกเสือในประเทศไทย

โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อมาพัฒนาเป็นวชิราวุธวิทยาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นได้ขยายกิจการให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งต่อมาได้ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

อีกทั้งมีพระราชดำริที่จะจัดสร้างโรงพยาบาลของสภากาชาดสยามขึ้น ต่อมาทรงจัดสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลสำหรับรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ โดยพระราชทานนามว่า วชิรพยาบาล 

เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. 2460 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ในการก่อสร้างตึกวชิรพยาบาล โดยทรงเห็นว่าโรงพยาบาลสุขาภิบาลที่ภูเก็ตคับแคบและถูกน้ำท่วมเสมอ ควรสร้างโรงพยาบาลใหม่ให้ทันสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาทำเลที่ตั้งโรงพยาบาลใหม่ และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงพยาบาลสุขาภิบาลเข้ากับโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เป็นต้น