ASP เนื้อหอม! ธุรกิจคริปโทฯ ทาบทามร่วมทุนทำ "กระดานเทรด-นายหน้า"

ASP เนื้อหอม! ธุรกิจคริปโทฯ ทาบทามร่วมทุนทำ "กระดานเทรด-นายหน้า"

“เอเซีย พลัสฯ” เผย เจรจาผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้ง “กระดานเทรด-นายหน้า” ทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดบอร์ดอยู่ระหว่างพิจารณา พร้อมให้บริการลูกค้าปี 65 มั่นใจรายได้ปี 64 เติบโตดี หลัง 9 เดือนกวาดรายได้กว่า 2.4 พันล้าน ไม่หวั่น “ไอบี” ยกทีมออก

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASP เปิดเผยว่า บริษัทได้รับการทาบทามจากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งผู้ให้บริการกระดานซื้อขาย (Exchange) และผู้ให้บริการนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) ทั้งในและต่างประเทศอาทิ สหรัฐ ยูเครน และสิงคโปร์ปัจจุบันคณะกรรมการอยู่ระหว่างพิจารณา โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปี 2565

เบื้องต้นบริษัทจะพิจารณาจากระบบการซื้อขายที่เหมาะสมกับระบบนิเวศ (Ecosystem) ในประเทศไทย ซึ่งผลลัพธ์อาจออกมาในรูปแบบที่ ASP เป็นผู้รับบริหารภายใต้แบรนด์อิสระ (White Label) หรือการร่วมทุน (JV)

นอกจากนี้ บริษัทยังพิจารณาถึงปริมาณการซื้อขายและกลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการในอนาคต แม้แพลตฟอร์มที่ให้บริการในปัจจุบันจะเน้นจับกลุ่มลูกค้าขนาดเล็ก แต่บริษัทจะเน้นการให้บริการลูกค้าขนาดกลางและขนาดใหญ่มากกว่า รวมถึงเน้นการให้ความรู้กับลูกค้า

“เชื่อว่าในท้ายที่สุดธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะเกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น และในอนาคตมีโอกาสที่ค่านายหน้า (ค่าคอมมิชชั่น) ในการซื้อขายเหรียญต่างๆ จะลดลงเช่นเดียวกับการซื้อขายหุ้น ดังนั้น เราต้องเลือกลงทุนในสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ โดยคาดว่าปี 2565 คงได้นำเสนอกับลูกค้า”

ขณะที่โอกาสในการพัฒนากระดานซื้อขาย มองว่าเป็นอีกทางเลือกการลงทุน เพราะมีผู้ให้บริการหลายรายที่ให้บริการ Exchange ใน 3-4 ประเทศแล้ว อยากจะเข้ามาให้บริการในประเทศไทยเพิ่มเติม รวมถึงการร่วมมือกับผู้ให้บริการต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอยู่แล้ว และการร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการพัฒนา

นายก้องเกียรติ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2564 มั่นใจว่าจะเติบโตกว่าปี 2563 ที่มีรายได้รวม 1,880.69 ล้านบาท ภายหลัง 9 เดือนที่ผ่านมามีรายได้รวม 2,411.60 ล้านบาท และคาดว่ารายได้ในปี 2565 จะเติบโตต่อเนื่อง จากการปริมาณการซื้อขายหุ้นที่ยังคึกคัก การทำดีลวาณิชธนกิจ (IB) ซึ่งบริษัทมีดีลเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในมือ 9 ราย และดีลที่ปรึกษาอีก 1 ราย

ส่วนกรณีที่ทีม IB ของบริษัทลาออกนั้น มองว่าเป็นพลวัตของธุรกิจทั่วไปที่เกิดการดึงตัวบุคลากรที่มีความสามารถ แม้ว่าในระยะสั้นอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ แต่เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานก่อนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และเชื่อว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจ IB จะยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง