เลขาฯสกสค.ยันไม่เข้าการประเมินผลงาน-หากไม่แก้เกณฑ์ให้เป็นธรรม

เลขาฯสกสค.ยันไม่เข้าการประเมินผลงาน-หากไม่แก้เกณฑ์ให้เป็นธรรม

เลขาฯสกสค.ยันไม่เข้าการประเมินผลงาน-หากไม่แก้เกณฑ์ให้เป็นธรรม เผยเตรียมรายงานผลงานไว้แล้วด้วย ชำแหละตัวชี้วัดผิดปกติ-ไม่สอดคล้องความจริงเพียบ เตือนผู้เกี่ยวข้องกำลังทำลายธรรมาภิบาล “กระทรวงครู” ย่อยยับ

จากกรณีที่ นายธนพร สมศรี เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ยื่นหนังสือคัดค้านเกณฑ์การประเมินผลงานเลขาฯ สกสค. ถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการ สกสค. (บอร์ด สกสค.) โดยระบุว่า เกณฑ์การประเมินไม่เป็นธรรม นั้น

วันนี้ (23 พ.ย.64) นายธนพร เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบว่า น.ส.ตรีนุช ในฐานะประธานบอร์ด สกสค.จะดำเนินการอย่างไร เบื้องต้นคาดว่าจะต้องนำเรื่องที่ตนคัดค้านเกณฑ์ประเมินเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมบอร์ด สกสค.อีกครั้ง อย่างไรก็ตามยืนยันว่า จะไม่เข้ารับการประเมิน จนกว่าจะได้จะมีการพิจารณาเกณฑ์ประเมินใหม่ที่เป็นธรรม และเป็นมาตรฐาน แม้จะได้จัดทำรายงานผลงานของเลขาธิการ สกสค. เพื่อเสนอคณะกรรมการประเมินตามกำหนดการเดิมในวันนี้ (23 พ.ย.) แล้วก็ตาม
 

“ยืนยันว่า ผมพร้อมเข้าสู่กระบวนการประเมิน เพราะมั่นใจในผลงานที่ผ่านมาว่า ได้ทำงานตามแผนงาน และยุทธศาสตร์ที่วางไว้ รวมทั้งงานด้านการปฏิรูปองค์กร โดยเฉพาะการฟื้นฟูหนี้สินขององค์การค้า (อค.) และการจัดการปัญหาทุจริตที่ค้างคา กระทั่ง สกสค.ได้คะแนน ITA (การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ) ประจำปีงบประมาณ 2564 ถึง 92.54 คะแนน” นายธนพร ระบุ

นายธนพร เปิดเผยด้วยว่า ในส่วนของเกณฑ์ประเมินที่มองว่าไม่เป็นธรรม และตัวชี้วัดที่ผิดปกตินั้นมีหลายประเด็น อาทิ การกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนในแต่ละหัวข้อว่า หากทำได้ตามแผนงานและเป้าหมายที่วางไว้ จะได้คะแนนเพียง 3 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน แต่กลับกำหนดว่าต้องได้ 4 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนนจึงจะผ่านการประเมินในหัวข้อนั้นๆ ซึ่งเป็นการกำหนดภายหลังจากที่ได้ทำงานแล้วเสร็จไปแล้ว เท่ากับว่าต้องทำผลงานให้ได้ขั้นกว่าจากเป้าหมายที่วางไว้ 
 

ซึ่งหากต้องการเช่นนั้น ก็ควรกำหนดเกณฑ์ออกมาก่อน เมื่อมาประกาศเกณฑ์ภายหลังก็ไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้ หรือบางหัวข้อก็ไม่มีการคำนึงถึงความเป็นจริง โดยเฉพาะผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การดำเนินกิจการของ สกสค.มีข้อจำกัด อาทิ การกำหนดจำนวนผู้เข้าพักในหอพัก สกสค.ว่าต้องมีผู้เข้าพักไม่น้อยกว่า 1.4 แสนคน ก็ไม่มีการปรับลดจำนวนเป้าหมายลง ทั้งที่ก็ทราบว่า มีประกาศ ศบค.ในการจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด จนกิจการห้องพัก 

หรือโรงแรมต้องปิดบริการไปโดยปริยาย ไม่ต่างจากผู้ประการโรงแรมเอกชนที่ประสบปัญหา จนหลายแห่งต้องปิดกิจการไปด้วยซ้ำ หรือการกำหนดว่าต้องมีการประชุมบอร์ด สกสค.จำนวน 12 ครั้งต่อปี หรือเดือนละ 1 ครั้ง แต่ในช่วงโควิด-19 ก็มีอุปสรรคในการนัดหมายประชุม อีกทั้งผู้มีอำนาจเรียกประชุมก็คือ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานบอร์ด สกสค.อีกด้วย

“อยากฝากไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่า สิ่งที่คุณกำลังทำอยู่นั้น สาธารณชนภายนอกอาจจะไม่รับรู้ แต่คนในกระทรวงศึกษาฯรู้ดี เพราะทุกคนผ่านการประเมินแบบนี้มาทั้งหมด หากปล่อยให้มีการวางเกณฑ์ประเมินที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ก็เท่ากับทำลายหลักธรรมมาธิบาลของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เป็นองค์กรแม่พิมพ์ของชาติ ที่ไม่เพียงแต่บุคลากรของกระทรวงได้รับผลกระทบเท่านั้น ยังส่งผลไปถึงนักเรียน ที่เป็นลูกหลานของเรา ที่เป็นอนาคตของชาติ จึงอยากใช้กรณีของผมเป็นกรณีอย่างว่า วัฒนธรรมการใช้อำนาจกลั่นแกล้งเช่นนี้ต้องหมดไป” นายธนพร กล่าว