คลังเผยกิจกรรมเศรษฐกิจพุ่งหลังรัฐบาลเปิดประเทศ

คลังเผยกิจกรรมเศรษฐกิจพุ่งหลังรัฐบาลเปิดประเทศ

คลังเผยเครื่องชี้เศรษฐกิจเร็วจากกูเกิลและเฟสบุ๊กพบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นหลังรัฐบาลเปิดประเทศทั้งการเดินทาง การใช้จ่าย และจำนวนนักท่องเที่ยว ขณะที่ การส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐยังเป็น 2 ปัจจัยหลักหนุนจีดีพีปีนี้และปีหน้า

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า หลังรัฐบาลเปิดประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ทางสศค.ได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และ พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจเร็ว อาทิ เฟสบุ๊ก และ กูเกิล ซึ่งสามารถชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการเรียกใช้งานของแผนที่ในจุดเช็คอินตามสถานที่ต่างๆได้แสดงให้เห็นว่า ประชาชนได้เริ่มออกมาทำกิจกรรมหรือจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทั้งร้านค้าและบริการต่างๆ และพบสัญญาณที่ดีขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปี 2563 จะพบว่า ดัชนีชี้วัดการเดินทางไปยังร้านค้าและบริการปรับเพิ่มขึ้น โดยร้านค้าปลีกและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจมีอัตราการขยายตัวประมาณ 7.1% ร้านขายของชำและร้านขายยาขยายตัว 31.7% อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนที่ยังติดลบ คือ สวนสาธารณะ -21.7% และ สถานีขนส่ง -35.7% ซึ่งในส่วนของสวนสาธารณะนั้น บางส่วนอาจจะยังไม่มีการเปิด 100%

อีกตัวเลขหนึ่ง คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มเข้ามาหลังจากเปิดประเทศ ซึ่งพบว่า มียอดนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 5 หมื่นคน ซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า

นักท่องเที่ยวที่เข้ามามากใน 3 อันดับแรก มาจาก

ประเทศอังกฤษ จำนวนประมาณ 8 พันคน

สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ประมาณ 7.5 พันคน

เยอรมันประมาณ 5.6 พันคน

“เมื่อเราเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่เริ่มเข้ามามากขึ้นหลังจากเปิดประเทศ ทำให้เราคาดการณ์ว่า ทั้งปีนี้ ยอดนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ประมาณ 2 แสนคน จากคาดการณ์เดิม 1.8 แสนคน ส่วนปีหน้าเราคาดการณ์ว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 6-7 ล้านคน ซึ่งกรณี 7 ล้านคนนั้น เรานับรวมจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนที่คาดว่า จะเริ่มเข้าประเทศได้ช่วงครึ่งหลังของปีนี้”

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเรื่องการส่งออกจะเป็นปัจจัยหลักที่จะหนุนจีดีพีในปีนี้และปีหน้าให้ขยายตัวตามเป้าหมายที่ 1% และ 4% ตามลำดับ โดยเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เราประเมินว่า จะสามารถขยายตัวได้เฉลี่ยประมาณกว่า 5%

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยในประเทศที่เกิดจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งภาพรวมแล้วจะมีเม็ดเงินที่จะถูกใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจอีกราว 4 ล้านบาท โดยจะประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายปี 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3 แสนล้านบาท และ เม็ดเงินจากพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งยังเหลืออยู่ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท

“เราคิดว่า ด้วยปัจจัยดังกล่าวจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยที่มาตรการทางการคลังก็พร้อมเข้าไปสนับสนุนกรณีที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ”

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้านั้น ขณะนี้ สศค.มองอยู่ประมาณ 4 ปัจจัย คือ

1.การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่จะสามารถทำได้ดีอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งหากเกิดการแพร่ระบาดอีกครั้ง จะกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ

2.การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการส่งออกและการขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์ของผู้ผลิต

3.การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว

4.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ด้านมาตรการทางการคลังที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆนั้น เขากล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ว่า จะมีอะไรเพิ่มเติมไปจากมาตรการที่มีอยู่หรือไม่ โดยขณะนี้ มาตรการคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนธ.ค.นี้ ทั้งนี้ หากว่า ประชาชนที่ร่วมมาตรการคนละครึ่งไม่สามารถใช้จ่ายเงินได้หมดภายในระยะเวลาดังกล่าว ทางโครงการก็จะตัดสิทธิดังกล่าวออกไป โดยไม่สามารถนำสิทธิไปใช้ได้ในโครงการต่อไป