ไทยชวดสูตรผลิตยาต้านโควิดของไฟเซอร์เหตุไม่เข้าเกณฑ์ชาติรายได้ต่ำ

ไทยชวดสูตรผลิตยาต้านโควิดของไฟเซอร์เหตุไม่เข้าเกณฑ์ชาติรายได้ต่ำ

ไทยไม่มีรายชื่อใน 95 ประเทศที่ได้สูตรผลิตยาต้านโรคโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ เพราะไม่อยู่ในเกณฑ์ประเทศมีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ตามเงื่อนไขที่บริษัทไฟเซอร์กำหนด

ไฟเซอร์ บริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐประกาศทำข้อตกลงกับองค์กรสิทธิบัตรยาร่วม (เอ็มพีพี) ซึ่งเปิดทางให้ผู้ผลิตยาใน 95 ประเทศสามารถผลิตและจำหน่ายยา “แพกซ์โลวิดยารักษาโรคโควิด-19 ในประเทศได้ในราคาถูกเพราะไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์แต่ในรายชื่อทั้ง 95 ประเทศนั้นไม่มีไทย ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ประเทศมีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางตามเงื่อนไขที่บริษัทไฟเซอร์กำหนด

ในอาเซียนมี 6 ประเทศที่ได้รับอนุญาตจากไฟเซอร์คือ

กัมพูชา

อินโดนีเซีย

เมียนมา

ลาว

ฟิลิปปินส์

เวียดนาม

ในจำนวนนี้ มีแค่อินโดนีเซียประเทศเดียวที่ได้รับการจัดให้อยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper Middle-Income Country) หรือยูเอ็มไอซี ส่วนอีก 5 ประเทศ ถูกพิจารณาให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับต่ำ (Lower Middle-Income Country) หรือแอลเอ็มไอซี 

นอกจากนี้ บริษัทไฟเซอร์ ยังยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ ( เอฟดีเอ ) เพื่อขอให้มีการพิจารณาและขึ้นทะเบียนรับรองเป็นกรณีฉุกเฉิน

ยาเม็ดแพกซ์โลวิดของไฟเซอร์ เป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างมาก บริษัทจึงตั้งเป้าผลิตให้ได้ 1.8 แสนคอร์ส ภายในเดือนธ.ค.นี้ และผลิตให้ได้อย่างน้อย 50 ล้านคอร์สภายในปี 2565  
 

ยาเม็ดแพกซ์โลวิด ของไฟเซอร์เป็นยาประเภทโปรตีเนสอินฮิบิเตอร์ คือยาที่ทำงานในลักษณะเดียวกับยาต้านไวรัสเอชไอวี สามารถย่อยสลาย เอนไซม์โควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนที่ไวรัสใช้ยึดเกาะในจมูก คอ และปอดของมนุษย์

ในการทดลองเชิงคลินิคเบื้องต้น ยานี้ช่วยลดโอกาสเข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต ของผู้มีอาการจากการติดเชื้อโควิด-19 และมีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักได้ 89% ในกลุ่มที่ได้รับยาภายใน 3 วัน ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาภายใน 5 วัน ลดโอกาสเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 85%

ส่วนยาเม็ดโมลนูพิราเวียของบริษัทเมอร์ค เป็นยาที่มีสรรพคุณยับยั้งการแบ่งตัวและแพร่พันธุ์ของไวรัสด้วยการจัดการกับสารพันธุกรรมของไวรัส ทำให้ไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้
 

บริษัทเมอร์ค เผยผลการทดลองเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ว่า ยาเม็ดโมลนูพิราเวียลดความเสี่ยงในการป่วยหนัก หรือเสียชีวิตได้ 50% หลังจากให้ยากับกลุ่มตัวอย่างไป 5 วันหลังมีอาการแต่ไม่มีข้อมูลในกรณีที่ให้ยาหลังจากมีอาการ 3 วัน

ในส่วนของราคาของยาแพกซ์โลวิดและยาโมลนูพิราเวียร์นั้น มีราคาใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะราคากลางของยาในประเทศร่ำรวย ยกตัวอย่างสหรัฐ ที่ซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ในราคา 700 ดอลลาร์ต่อ 1 ชุด ( ราว 22,925 บาท ) ประกอบด้วยยา 40 เม็ด รับประทานต่อเนื่อง 5 วัน ส่วนยาแพกซ์โลวิดรับประทานวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 เม็ด และควรรับยาภายใน 3 วันแรกที่มีอาการป่วย