ที่ประชุม COP26 กลาสโกว์บรรลุข้อตกลงรับมือโลกร้อน

ที่ประชุม COP26 กลาสโกว์บรรลุข้อตกลงรับมือโลกร้อน

เกือบ 220 ประเทศบรรลุข้อตกลงรับมือปัญหาโลกร้อนในการประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ยังข้อตกลงที่ทำร่วมกันยังสะท้อนถึงความพยายามที่ไม่เพียงพอ

ตัวแทนจากประเทศต่างๆร่วม 220 ประเทศบรรลุข้อตกลงต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หลังจากใช้เวลาเจรจายาวนานถึง 2 สัปดาห์ โดยเนื้อหาในข้อตกลงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆเร่งความพยายามลดการใช้ถ่านหินและค่อยๆเลิกอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไร้ประสิทธิภาพ

ข้อตกลงยังเรียกร้องทุกประเทศเร่งลดการปล่อยมลพิษด้วยการยื่นแผนระดับชาติใหม่ภายในปี 2565 หรือเร็วกว่าที่ตกลงกันในความตกลงปารีส 3 ปี

อย่างไรก็ตาม บรรดาชาติร่ำรวยถูกกล่าวหาในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ในเมืองกลาสโกว์ ว่าล้มเหลวในการมอบเงินสนับสนุนที่จำเป็นแก่ประเทศอ่อนแอทั้งหลายที่เผชิญความเสี่ยงภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง ไฟป่าและพายุ

อ่านข่าว : 22 ชาติลงนามกำหนดเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ไม่สร้างมลภาวะในCOP26

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมีส่วนทำให้เกิดสภาพอากาศรุนแรงต่าง ๆ มากขึ้นทั้งคลื่นความร้อน น้ำท่วม และ ไฟป่า อีกทั้งช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นช่วงที่อุณหภูมิโลกสูงสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกสถิติไว้ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เห็นตรงกันว่าต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหานี้
 

ส่วนใหญ่แล้ว การให้คำมั่นสัญญาที่เกิดขึ้นในการประชุม COP เป็นเรื่องของความสมัครใจและการกำกับดูแลตัวเอง มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ไปไกลถึงขั้นให้มีผลผูกพันตามกฎหมาย แต่ก็มีโอกาสที่แรงผลักดันสู่การบรรลุเป้าหมาย การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเร่งมือทำตามที่ให้คำมั่นสัญญา

โดยหลักการแล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะบังคับใช้บทลงโทษต่อประเทศที่ไม่ยอมทำตามคำสัญญา แต่ก็อาจจะทำให้หลายประเทศถอนตัวออกจากข้อตกลงระหว่างประเทศได้ เพราะฉะนั้นความสำคัญของการประชุม COP26 จึงเป็นการพยายามส่งเสริมให้ทุกประเทศเข้าร่วมต่อไป

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงความยินดีต่อข้อตกลงดังกล่าว แต่เน้นย้ำว่ายังไม่เพียงพอ เพราะโลกยังคงต้อนรับหายนะจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่ ลอเรนซ์ ทูเบียนา ผู้มีบทบาทสำคัญในการออกแบบความตกลงปารีส ให้ความเห็นว่า COP26  ล้มเหลวในการมอบความช่วยเหลือในทันทีแก่ผู้คนที่กำลังทุกข์ทรมานอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม แม้สหราอาณาจักร ประเทศเจ้าภาพการประชุม COP 26 ในปีนี้ ต้องการให้ COP26 คงเป้าหมายจำกัดอุณภูมิไม่ให้พุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

แต่การประเมินทางวิทยาศาสตร์ของยูเอ็นเมื่อสัปดาห์ก่อนบ่งว่า ความพยายามของทั่วโลกในการลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน ยังคงส่งผลให้โลกมุ่งหน้าไปสู่เส้นทางที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 2.7 องศาเซลเซียสตลอด10ปีนับจากนี้

ในการประชุม COP26 สหรัฐและจีน รับปากว่า จะเพิ่มความร่วมมือด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศระหว่างกันในช่วง 10 ปีข้างหน้า ครอบคลุมถึงลดการปล่อยก๊าซมีเทน การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด และลดการปล่อยคาร์บอนลงจนเหลือศูนย์

นอกจากนี้ ผู้นำจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีพื้นที่ป่ารวมกันคิดเป็น 85% ของป่าไม้ทั่วโลก รับปากว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2573

ในที่ประชุม COP26 ผู้แทนจากกว่า 100 ประเทศ ยังเห็นชอบกับโครงการตัดลดการปล่อยมีเทนลง 30% ภายในปี 2573

นอกจากนี้กว่า 40 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศที่ใช้ถ่านหินรายใหญ่อย่างโปแลนด์ เวียดนาม และชิลี เห็นชอบที่จะเลิกใช้ถ่านหิน

ส่วนสถาบันการเงินประมาณ 450 แห่ง ซึ่งควบคุมเงินประมาณ 130 ล้านล้านดอลลาร์ เห็นชอบที่จะสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาด เช่นพลังงานหมุนเวียน และปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล