“ภท.” ค้าน “กกต.” ให้ อสม.สมัคร “อบต.” หยุดปฏิบัติหน้าที่ กระทบการควบคุมโรค

“ภท.” ค้าน “กกต.” ให้ อสม.สมัคร “อบต.” หยุดปฏิบัติหน้าที่ กระทบการควบคุมโรค

“ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.ภูมิใจไทย ออกโรงค้าน “กกต.” ออกประกาศห้าม อสม. ที่ลงสมัครเลือกตั้ง “อบต.” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ชี้อยู่ในช่วงทำสงครามกับโควิด-19 กระทบต่อการควบคุมโรค

จากกรณีประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เรื่องขอความร่วมมืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) หรือนายก อบต. หรือผู้ช่วยหาเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้ง งดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จนั้น

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2564 นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีนี้ว่า สั่งให้หยุดคุมโรค สั่งให้หยุดดูแลประชาชน เป็นงง และตกใจมาก เมื่อเห็นเอกสารของ กกต. ที่ ลต 0013/11355 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2564 เรื่อง ขอความร่วมมือให้ อสม. ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็น อบต. ไปจนที่เป็นผู้ช่วยหาเสียง งดปฏิบัติหน้าที่ ไม่ต้องอาสา ทำงานช่วยระบบ สธ.ไทย เพราะท่านเกรงว่า อสม.ซึ่งมีความใกล้ชิดประชาชน จะใช้ความสัมพันธ์ ทำให้การเลือกตั้งขาดความเป็นกลาง ไม่บริสุทธิ์ ไม่ยุติธรรม

อ่านข่าว : เปิดคู่มือ "ผู้ช่วยหาเสียง-ค่าใช้จ่าย" นับถอยหลัง "เลือกตั้ง อบต." 28 พ.ย.64

“ผมเข้าใจความหวาดระแวงของท่าน แต่อยากให้ท่านผู้ออกเอกสาร ซึ่งเปรียบเหมือนคำสั่งกลาย ๆ ได้มองความเป็นจริง วันนี้ หน้าที่ของพวกเขา เหล่า อสม. หรือที่เรียกกันว่า นักรบชุดเทา คือการควบคุมโรค และการดูแลสุขภาพคนไทย นี่คือเรื่องสำคัญ และเราต้องการทุกทรัพยากรเข้ามาช่วย โดยเฉพาะในช่วงโควิด 19 แต่ท่านกลับมาบอกว่าให้ บางคนหยุดทำงานตรงนั้น อยู่นิ่ง ๆ สมัครลงสนาม อบต. แล้วเป็น อสม.ไม่ได้ เด๋วจะเอาอำนาจหน้าที่ไปหาเสียง” นายศุภชัย ระบุ

นายศุภชัย ระบุอีกว่า มองว่า มันไม่เหมาะสมกับสถานการณ์เป็นอย่างยิ่ง ยิ่งเมื่อคำสั่งออกมาวันที่ 28 ตุลาคม 2564 แต่การเลือกตั้ง จะเกิดขึ้นคือวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 เท่ากับ เป็นเวลาร่วมเดือนที่ทรัพยากร อสม. จำนวนมาก ซึ่งควรจะถูกใช้ประโยชน์ในการดูแลประชาชนช่วงโรคระบาด กลับจะต้องอยู่นิ่ง ๆ แทนที่จะได้นำเอาความรู้ ความสามารถมาใช้ช่วยประชาชนในเรื่องเฉพาะหน้าที่เกี่ยวกับความเป็น ความตาย

“ท่าน กกต.อย่ากังวลเกินเหตุเลยครับ ถึง อสม.จะหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ในการรับรู้ของสังคม ก็ยังทราบกันดีว่า เขา คือ อสม. ที่ผ่านมา ชาวบ้านเขาเห็นว่า อสม. ได้สร้างประโยชน์มหาศาลอย่างไรบ้าง การหยุดปฏิบัติงานชั่วครั้ง ชั่วคราว มันเปลี่ยนการรับรู้ตรงนี้ไม่ได้หรอก คนจะรัก ยังไง เขาก็รัก แต่ที่แน่ ๆ คือ การให้ อสม.หยุดลงพื้นที่ดูแลประชาชน เท่ากับ อสม.ที่ดูแลคนไข้ติดเตียง ก็ต้องหยุดดูแล ที่ต้องส่งยา ก็ต้องหยุดส่ง ยิ่งในห้วงเวลาที่เรายังทำสงครามกับโควิด เราต้องการคนทำงาน เราต้องการ อสม. การขาดหายไปของ อสม.ในพื้นที่ จะกี่คนก็ตาม มันส่งผลกระทบต่อการควบคุมโรคแน่นอน” นายศุภชัย ระบุ