โฆษก กต. ยัน ไทยแสดงบทบาทการทูตเชิงสร้างสรรค์ กรณีเมียนมา

โฆษก กต. ยัน ไทยแสดงบทบาทการทูตเชิงสร้างสรรค์ กรณีเมียนมา

โฆษก กต. ชี้แจงกรณีมีผู้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศของไทย ในกรณีเมียนมา ทำให้สถานะในเวทีการต่างประเทศของไทยตกต่ำ ยืนยันไทยสนับสนุนเมียนมา แก้ไขปัญหาภายในประเทศ มุ่งทำให้เกิดสันติภาพ และสงบสุข

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีมีผู้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศของไทย ในกรณีเมียนมา ทำให้สถานะในเวทีการต่างประเทศของไทยตกต่ำว่า ไทยในฐานะประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ได้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด และห่วงใย

และเนื่องจากไทย ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ความสะดวกสบายของการอยู่ห่างไกล” (luxury of distance) ทุกย่างก้าวของการทูตไทยในกรณีเมียนมาก็จำเป็นต้องดำเนินการด้วยความสุขุม รอบคอบ และรอบด้านอย่างยิ่ง โดยคำนึงถึงทุกมิติ และตั้งอยู่บนความเป็นจริงที่ไทยและเมียนมา มีพรมแดนติดกันทางบกมากกว่า 2,400 กิโลเมตร รวมทั้งการที่ทั้งสองประเทศเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ประชาชนไทยและเมียนมามีความใกล้ชิดกันและพึ่งพาอาศัยกันและกันในด้านต่าง ๆ และทั้งไทยและเมียนมาต่างก็เป็นประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันด้วย

ไทยในฐานะเพื่อนบ้าน ไทยตระหนักว่าปัญหาภายในเมียนมามีความสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ยาวนาน และสามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทยในหลายมิติ

ที่ผ่านมา เราก็ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนและสม่ำเสมอผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งในระดับทวิภาคี และร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ รวมทั้งผ่านการสนับสนุนการทำงานของผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันให้มีการนำฉันทามติ 5  ข้อของผู้นำอาเซียนไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

นอกจากนี้ ไทยยังมีจุดยืนที่ชัดเจนที่ต้องการเห็นการยุติความรุนแรง การปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวเพิ่มเติม และที่สำคัญต้องการให้ฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมาหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกทางการเมืองร่วมกันโดยสันติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนเมียนมาเป็นสำคัญ สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ไม่ใช่เรื่องง่ายและจำเป็นต้องอาศัยความอดทนและความเข้าใจสถานการณ์ที่ถ่องแท้

ขณะเดียวกัน ไทยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นต่อการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมา

ในช่วงที่ผ่านมา ไทยแสดงบทบาทสำคัญในการระดมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากนานาชาติเพื่อช่วยเหลือประชาชนเมียนมาที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากทั้งในด้านสาธารณสุขและปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยเป็นผู้เสนอแนวคิดที่นำไปสู่การจัดการประชุมนานาชาติเพื่อระดมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเมียนมาโดยเลขาธิการอาเซียน (The Pledging Conference to Support ASEAN’s Humanitarian Assistance in Myanmar) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564

นอกจากนี้ ได้จัดการประชุมเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเพื่อชาวเมียนมาโดยเชิญผู้แทนประเทศผู้บริจาค องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชนไทย ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชนของไทยและต่างประเทศที่มีเครือข่ายหรือการดำเนินการในไทยและเมียนมากว่า 15 องค์กรร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ข้อประเมินเกี่ยวกับความต้องการความช่วยเหลือ วิธีการดำเนินการ ช่องทางการติดต่อและนำส่งความช่วยเหลือ และหุ้นส่วนหรือเครือข่ายในการดำเนินการ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ด้วย

ข้อริเริ่มดังกล่าวดำเนินคู่ขนานไปกับการที่ไทยได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนเมียนมามาต่อเนื่องทั้งผ่านศูนย์ความช่วยเหลือมนุษยธรรมของอาเซียน (ASEAN Humanitarian Assistance Centre - AHA Center) และในระดับทวิภาคี รวมทั้งโดยการสนับสนุนการทำงานขององค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมในเมียนมา ควบคู่กับดำเนินโครงการเสริมสร้างการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้กับเมียนมา ทั้งในส่วนกลาง และในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา

นายธานี ยืนยันว่า การดำเนินการทางการทูตที่สร้างสรรค์ของไทยในกรณีเมียนมาข้างต้นเป็นที่รับรู้และชื่นชมของประเทศต่างๆ เป็นอย่างดี และไทยจะยังคงมีบทบาทที่สร้างสรรค์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ต่อไปเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภายในเมียนมาและเพื่อให้เกิดสันติภาพ ความสงบสุข และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในเมียนมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยปรารถนา