รู้ทัน "ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน" พร้อมเช็คอาการเบื้องต้น และวิธีป้องกัน

รู้ทัน "ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน" พร้อมเช็คอาการเบื้องต้น และวิธีป้องกัน

13 ต.ค.ของทุกปี จะเป็น “วันลิ่มเลือดอุดตันโลก” ซึ่ง “ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน” เป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากภาวะดังกล่าว

สมาคมการแพทย์อเมริกา ได้เผยตัวเลขว่ามีประชากรราวปีละ 2 ล้านคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน  โดย ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ในหลอดเลือดดำเกิดขึ้นประมาณ 142-300 ต่อ 100,000 คนต่อปี โดยมักเกิดขึ้นหลังจากนั่งอยู่ในท่าหย่อนขานานๆ การเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นระยะเวลานาน การอยู่ในโรงพยาบาลนานๆ และการผ่าตัด

  • คนผิวขาวเสี่ยงเป็นลิ่มเลือดอุดตัน 5-10เท่า

ส่วนสถานการณ์ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคลิ่มเลือดอุดตันในปอดพบว่าตั้งแต่ปี 2560-2563 มีผู้ป่วยประมาณ 12,900-26,800 คน เท่ากับจะมีผู้ป่วย 200-400 คนในประชากรทุกๆ 1 ล้านคน และจะเจอในคนผิวขาว 5-10 เท่า ทั้งนี้ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ในหลอดเลือดดำเป็น 1 ในสาเหตุหลักที่ส่งผลให้ผู้ป่วยพบปัญหาหายใจลำบาก ส่งผลให้เกิดอัตราการเสียชีวิตที่ 30%

“นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ” สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในประเทศไทยว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นโรคที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่คนส่วนใหญ่มักจะตระหนักรู้ถึงโรคดังกล่าวค่อนข้างน้อย เพราะอาการของโรคภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ส่วนใหญ่จะเริ่มปวดบวมขาข้างใดข้างหนึ่งก่อน ขาจะแดงและดำ ทำให้หลายคนไม่ได้ไปรับการรักษาทันที จะไปรับการรักษาก็ต่อเมื่อเป็นแผลเรื้อรัง ทำให้ลิ่มเลือดอุดตันไปที่ปอด และหากไม่ได้รับการรักษาก็จะเสียชีวิตทันที ดังนั้น การรักษาป้องกัน วินิจฉัยตั้งแต่แรกจะป้องกันการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ดีที่สุด

 

  • ระวังปวดขา ขาบวม ผิวหนังเปลี่ยนสี

ทั้งนี้ สมาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือดและ Haemostasis หรือ International Society on Thrombosis and Haemostasis (ISTH) ได้มีการสำรวจประชากรทั่วโลก เป็นการสำรวจจากอินเตอร์เน็ต พบว่า ในแง่ของตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคลิ่มเลือดอุดตัน เมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ ประชากรจะตระหนักรู้เรื่องนี้ต่ำมาก มีเพียง 1 ใน 4 ของประชากรที่จะรู้จักภาวะนี้

สำหรับความเข้าใจและไม่เข้าใจเกี่ยวกับอาการของโรค นั่นคือ อาการแสดงของโรคลิ่มเลือดอุดตันที่ขา ส่วนใหญ่เข้าใจถูกต้องว่า ต้องมีการปวดขา ขาบวม ผิวหนังเปลี่ยนสี รู้สึกร้อนที่ขา ส่วนอาการที่ทุกคนเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคลิ่มเลือดอุดตัน คือ ขาขยับไม่ได้ และคันที่ขา ขณะที่โรคลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดนั้น อาการแสดงที่ทุกคนเข้าใจถูกต้อง คือ หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนจะเป็นลม ไอเป็นเลือด และอาการที่เข้าใจไม่ถูกต้อง คือ หายใจช้าตื้น ปวดร้าวไปที่แขน ปวดหัวบ่อยๆ

รู้ทัน \"ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน\" พร้อมเช็คอาการเบื้องต้น และวิธีป้องกัน

  • เช็คปัจจัยเสี่ยง “ลิ่มเลือดอุดตัน”

“มีเพียงร้อยละ 4 ของประชากรเท่านั้น ที่ทราบว่าการนอนรพ.นานๆ หรือการนั่งนานๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายจะทำให้เกิดความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และในช่วงอายุ 20-40 ปี จะพบว่าผู้หญิงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีการตั้งครรภ์ และการกินยาคุม ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุจะมีโอกาสเกิดได้ทั้งหญิง และชาย ดังนั้น ภัยอันตรายของภาวะลิ่มเลือดอุดตันจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต เนื่องจากอาการปวด บวม และอาจไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า หลายคนอันตรายถึงแก่ชีวิต เพราะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเฉียบพลันร้ายแรงที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิต เช่น หัวใจวาย”นพ.พันธุ์เทพ กล่าว

 

  • ผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตัน กับโควิด-19

ทั้งนี้ สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างโรคโควิด-19 และการฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่งผลให้เกิดโรคลิ่มเลือดอุดตัน นพ.พันธุ์เทพ อธิบายว่ากรณีที่คนไข้เคยมีภาวะหลอดเลือดอุดตัน เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (DVT) และภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำในปอด (PE) ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการติดโควิด-19 และยาต้านการแข็งตัวของเลือด ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการติดโควิด-19 แต่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในห้องไอซียู ร้อยละ 20 มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้

“เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หรือ ผู้ป่วยโรคลิ่มเลือดอุดตันแล้วเป็นโควิด ต้องแจ้งแพทย์ที่ทำการรักษา ถึงประวัติการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และยาที่รับประทานอยู่ในปัจจุบัน ขอทำแบบประเมินความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด และหากรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่แล้วไม่ควรหยุดเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์” นพ.พันธุ์เทพ กล่าว

ขณะที่ “การฉีดวัคซีนโควิด-19” หลายคนมีความกังวลเรื่องของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งในประเทศไทย พบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 มีเพียง 6 รายเท่านั้นที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และเป็นกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

นพ.พันธุ์เทพ กล่าวต่อไปว่า วัคซีนไม่ได้เพิ่มลิ่มเลือดอุดตันในภาวะปกติ แต่ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เจอหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ประมาณ 1 ในแสนคน และจะพบในคนผิวขาวประมาณ 1 ต่อ 1,000 คนนั้นจะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำภายหลังได้รับวัคซีน ซึ่งจะแสดงอาการหลังจากรับวัคซีนไปแล้วประมาณ 4-5 วัน หรือ 1 เดือน

รวมถึงมีอาการปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน แขนขาอ่อนแรง หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าตา จะมีจุดจั้มเลือด จุดแดง ในผิวหนัง หากมีอาการเหล่านี้ ขอให้รีบไปพบแพทย์ เพราะโรคนี้ที่ทำให้เสียชีวิต เกิดจากภาวะในสมองร่วมด้วย หาคำตอบว่าพฤติกรรม อาหารการกิน และพันธุกรรม เป็นปัจจัยเสี่ยง กับโรคนี้หรือไม่ได้ที่  Facebook เพจ Instant Hematology วันที่ 9 ต.ค.นี้