รู้หรือไม่? สูบบุหรี่ระดับไหน ถึงเรียกว่า..เสพติดนิโคติน

รู้หรือไม่? สูบบุหรี่ระดับไหน ถึงเรียกว่า..เสพติดนิโคติน

เช็คด่วน! สูบบุหรี่ระดับไหน..เสพติดนิโคติน ในยุคที่ราคาบุหรี่ปรับตัวขึ้นเท่าตัว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ พร้อมแนะสิงห์อมควัน วิธีเลิกบุหรี่ง่ายๆ ใครๆก็ทำได้

ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ กฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2564 ซึ่งลงนามโดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 1 ต.ค. 64 นี้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ปรับราคา “บุหรี่” ซองละ 70-160 บาท

คำนวณภาษีจากปริมาณจะปรับจาก 1.20 บาทต่อมวน หรือซองละ 24 บาท เป็นอัตรา 1.25 บาทต่อมวน หรือซองละ 25 บาท

ขณะที่คำนวณภาษีด้านมูลค่า เดิมราคาขายปลีกไม่เกินซอง 60 บาท เสียภาษี 20% จะปรับเพิ่มเป็นบุหรี่ขายปลีกไม่เกินซอง 72 บาท เสียภาษีเพิ่มเป็น 25% ส่วนบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกเกินซอง 72 บาท จะเสียภาษีเพิ่มจากเดิม 40% เป็น 42%

ทั้งนี้ หากคำนวณเบื้องต้น บุหรี่ขายปลีกที่มีราคาซองละ 55 บาท ปรับเพิ่มเป็น 60 บาท ส่วนบุหรี่ซองละ 60 บาทจะมีโอกาสปรับขึ้นสูงสุด 70-72 บาท ส่วนกลุ่มบุหรี่ราคาสูงที่ได้รับความนิยมที่อยู่ซองละ 95 บาท อาจขึ้นเป็นซองละ 110-115 บาท และบุหรี่นอกหรือบุหรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศจำหน่ายอยู่ที่ซอง 145-150 บาท อาจปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 155-160 บาท

 

  • ยุคโควิดคนไทยสูบน้อยลง 49.12%

การปรับเพิ่มราคา “บุหรี่” ในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเพื่อต้องการลดจำนวน “สิงห์อมควัน” ให้น้อยลง รวมถึงป้องกันนักสูบหน้าใหม่ เพราะถึงแม้ตอนนี้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จะทำให้มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง แต่หากดูผลการวิจัยก่อนหน้านี้ก็พบว่าผู้สูบบุหรี่ โดยเฉพาะนักสูบบุหรี่หน้าใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ซึ่งได้ทำการสำรวจร่วมกับสวนดุสิตโพล ถึง "พฤติกรรมการบริโภคยาสูบของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19" ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2564

โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ใช้แรงงานนอกระบบ/ในระบบ จำนวน 1,120 ตัวอย่าง (เช่น มอเตอร์ไซด์รับจ้าง แท็กซี่ งานบ้าน เกษตร ประมง โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ห้างร้าน)

ผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ พบว่าผู้ใช้แรงงานที่บริโภคยาสูบในปริมาณลดลง เนื่องจากรายได้ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 49.12 รองลงมาคือ ลดบุหรี่เพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.57 อันดับสามคือลดบุหรี่เพื่อต้องการดูแลสุขภาพ ร้อยละ 16.29 ตามลำดับ

โดยความถี่ในการบริโภคยาสูบ พบว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานบริโภคยาสูบมากที่สุด 6-10 มวนต่อวัน, รองลงมาอันดับสอง คือ 11-15 มวนต่อวัน ส่วนอันดับสาม คือ 1-5 มวนต่อวันผลวิจัยล่าสุด ระบุว่า ขณะที่จำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่เป็นจำนวนเกือบ 8 ล้านรายในปี 2019 หรือคิดเป็น 1 ใน5 ของผู้ชายทุกคนที่เสียชีวิตเป็นนักสูบหน้าใหม่ถึง 90% ติดบุหรี่เมื่ออายุไม่ถึง 25 ปี

 

  • สูบบุหรี่ระดับไหน? เรียกว่า..เสพติดนิโคติน

ข้อมูลจากโรงพยาบาลเปาโล อธิบายว่า พฤติกรรมการเสพติดบุหรี่นั้น หากยังคงสูบไปนานๆก็จะยิ่งติดหนักขึ้นจนไม่สามารถเลิกได้ โดยการสังเกตว่าตนเองสูบบุหรี่จนเสพติดนิโคติน หรือไม่นั้น สามารถดูได้ ดังนี้

- สูบในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น หรือสูบติดต่อกันเป็นเวลานาน

- ไม่สามารถเลิกสูบ หรือ ไม่สามารถควบคุมปริมาณการสูบให้เป็นไปตามที่ตั้งใจได้

- ลดหรือเลิกกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม โดยมีผลมาจากการสูบบุหรี่

- สูบในปริมาณเท่าเดิม แต่เกิดผลตอบสนองน้อยลง หรือเกิดอาการดื้อต่อนิโคติน

- แม้อยู่ในสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย แต่ก็ยังคงสูบเพื่อตอบสนองความอยาก

- หากไม่ได้สูบบุหรี่เกิน 3 วัน ร่างกายที่ขาดนิโคตินจะแสดงอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวกศีรษะ กระวนกระวาย หงุดหงิด ทำให้ผู้สูบบุหรี่ต้องกลับไปเติมนิโคตินเข้าร่างกายอีกครั้ง

  •  โทษควรรู้ “สูบบุหรี่” เสี่ยงสารพัดโรคร้าย

มีรายงานจากหลายผลการศึกษาว่าการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องสะสมนานหลายปี ไม่เพียงก่อให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด แต่ยังเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ ลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ ตลอดจนโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น

เสี่ยงตาบอดถาวร เมื่อเราสูบบุหรี่บ่อยๆสารพิษในบุหรี่จะไปทำให้เกิดตาต้อกระจกได้ง่ายขึ้นโดยสังเกตได้จากดวงตาที่ดูขุ่นมัวขึ้นเรื่อยๆซึ่งนั่นเป็นเพียงอาการเริ่มต้นเท่านั้น นอกจากนี้ สารพิษในบุหรี่ยังเป็นตัวการทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงจอเรตินาเกิดการตีบตันจนเป็นผลให้ตาบอดถาวรในที่สุด

เสี่ยงมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่แล้วโรคนี้นับว่าเป็นโรคที่มีความเสี่ยงมากทีเดียวเพราะร่างกายของเราจะมีกระบวนการดูดซึมสารพิษหรือสารแปลกปลอมเข้าสู่กระแสเลือด และขับถ่ายออกทางปัสสาวะ ซึ่งสารนิโคตินและสารเสพติดอื่นๆในบุหรี่นั้น มีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งเมื่อมีการดูดซึมและขับออกทางปัสสาวะบ่อยๆจะทำให้กระเพาะปัสสาวะได้สัมผัสกับสารเหล่านี้ไปเต็มๆเป็นผลให้เสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้นั่นเอง นอกจากนี้บางคนอาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เนื่องจากกล้ามเนื้อซึ่งทำหน้าที่คอยควบคุมกระเพาะปัสสาวะถูกทำลายจนอ่อนตัวลงไปแล้ว

เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด  เป็นโรคที่มีความอันตรายเป็นอย่างมากโดยเฉพาะภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันอย่างไม่ทันตั้งตัว และผู้ที่สูบบุหรี่บ่อยๆ ก็เสี่ยงต่อโรคเหล่านี้มากที่สุดเนื่องจากสารนิโคตินและสารเสพติดอื่นๆในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัวและตีบลงส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ยากขึ้น และอาจไปเลี้ยงหัวใจไม่พอจึงทำให้หัวใจวายอย่างเฉียบพลันได้ โดยเฉพาะในขณะออกกำลังกายผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจจึงมักจะถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกกำลังกายหนักๆ นั่นเอง

เสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่สูบบุหรี่บ่อยๆ จะเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินอาหารได้สูงไม่ว่าจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบโรคมะเร็งช่องปากและมะเร็งหลอดอาหาร รวมถึงการติดเชื้อ Helicobacter pylori เพราะสารเคมีในบุหรี่จะไปทำให้กระเพาะอาหารมีการผลิตน้ำย่อยออกมามากขึ้น และมากเกินความจำเป็นจนทำให้กระเพาะอาหารเกิดแผลจากการกัดกร่อนของน้ำย่อยส่งผลให้เป็นโรคกระเพาะและเสี่ยงโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้ หากสูบบุหรี่บ่อยๆและสูบในปริมาณมากต่อวันก็อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุได้

เสี่ยงหลอดเลือดสมองตีบ อีกโรคที่น่ากลัวเพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองแตกได้ซึ่งก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤตอัมพาตและอาจเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้อีกเช่นกันซึ่งจากการวิจัยพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่บ่อยๆและสูบเป็นประจำมักเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองตีบและแตกมากกว่าคนปกติสูงถึง 10 เท่า อีกทั้งยังอาจทำให้เซลล์สมองฝ่อและเสื่อมได้ง่ายกว่าปกติ

เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมอวัยวะเพศของคุณถึงมักจะไม่ค่อยแข็งตัวหรือบางคนอยากมีลูก แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร ภรรยาก็ไม่ตั้งครรภ์สักทีนั่นอาจเป็นเพราะการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากการสูบบุหรี่บ่อยนั่นเองทั้งนี้ก็เพราะสารเคมีในบุหรี่จะทำให้เส้นเลือดเกิดการอุดตันส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงประสาทที่ควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายได้น้อยลงและยังทำให้จำนวนอสุจิลดน้อยลงตามซึ่งเมื่อขาดตัวอสุจิที่แข็งแรงไปโอกาสที่คุณจะเป็นหมันก็ย่อมเพิ่มสูงขึ้น

  • เลิกได้ไม่ยาก ป้องกันตนเองและครอบครัว

หากสามารถอดทนต่ออาการขาดนิโคตินในช่วงสัปดาห์แรกได้ หลังจากหยุดสูบบหรี่ไปประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ระบบไหลเวียนในร่างกายจะเริ่มดีขึ้น รวมทั้งหลังเลิกสูบบุหรี่ 30 วัน ขนเส้นเล็กๆ ที่เรียกว่า “ซีเลีย” จะค่อยๆ ซ่อมแซมตัวเอง เมื่อขนกลับมาทำงานได้เป็นปกติ สามารถทำหน้าที่ขจัดเมือกและสิ่งสกปรกต่างๆ ออกไปจากปอดได้ ปอดก็จะกลับมาทำงานได้ดีขึ้นอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะปอด หลอดเลือด หรืออวัยวะต่างๆ อาจไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การหยุดสูบบุหรี่จะช่วยให้ร่างกายสมดุลมากขึ้น คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

สำหรับ วิธีการเลิกบุหรี่ นั้นต้องต่อสู้กับการติดทางร่างกาย และทางใจ

โดยการต่อสู้กับการติดทางร่างกาย คือ

1. หยุดสูบบุหรี่ให้ได้สัก 2-3 สัปดาห์

2. ใช้ยาช่วย

การใช้ “ยาช่วยอดบุหรี่” ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้การอดบุหรี่ง่ายขึ้นการใช้ยาสามารถช่วยลดความทรมานจากการติดทางร่างกายได้ทำให้เราสามารถทุ่มเทกำลังใจในการต่อสู้กับการติดทางจิตใจได้เต็มที่การใช้ยาที่มีการศึกษาว่าช่วยให้การเลิกสูบบุหรี่ประสบความสำเร็จมากขึ้นคือ  การให้นิโคตินทดแทนในรูปของ หมากฝรั่งนิโคตินและแผ่นปะนิโคติน

หลักการของทั้งหมากฝรั่งและแผ่นปะนิโคตินคือการให้นิโคตินแก่ ร่างกายในขนาดต่ำๆ เพื่อระงับอาการขาดนิโคตินแล้วค่อยๆ ลดขนาดยาลงเรื่อยๆ จนหมด ทั้งหมากฝรั่งและแผ่นปะนิโคตินใช้ได้ผลใกล้เคียงกันแต่ก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันบ้างคือเราสามารถใช้แผ่นปะนิโคตินได้ตลอดเวลารวมทั้งเวลานอนด้วยทำให้เมื่อตื่นขึ้นมาเราจะไม่ค่อย"หิว"บุหรี่ ส่วนหมากฝรั่งนิโคตินนั้นเราสามารถเพิ่มหรือลดปริมาณนิโคตินได้เองในระดับหนึ่งโดยการเคี้ยวถี่หรือห่างลง

นอกจากนี้การเคี้ยวหมากฝรั่งนิโคตินยังช่วยลดความ"เหงาปาก" ได้ด้วยแต่การใช้ยาก็มีข้อจำกัดคือ เมื่อเริ่มใช้ยาผู้สูบบุหรี่ต้องหยุดสูบทันที การใช้ยาไปด้วยแล้ว "ค่อยๆสูบน้อยลง" จะทำให้เลิกสูบบุหรี่ ไม่สำเร็จ นอกจากนั้นปริมาณนิโคตินโดยรวมที่ร่างกายได้รับเข้าไปอาจมากเกินไปทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นการใช้ยาทั้ง 2 ชนิดนี้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ส่วนการต่อสู้ทางจิตใจ มีหลายวิธี

 หลีกเลี่ยงสิ่งยั่วยุหรือกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดความอยากสูบบุหรี่ เช่น  ไม่พกบุหรี่ติดตัว ทิ้งอุปกรณ์สูบบุหรี่ทั้งหมด ไม่เข้าใกล้คนที่กำลังสูบบุหรี่ เลือกที่นั่งในบริเวณที่ห้ามสูบบุหรี่ ถ้าดื่มกาแฟหรือเหล้าแล้วอยากสูบบุหรี่ ก็ให้หยุดดื่มหรือเปลี่ยนไปดื่มอย่างอื่นแทน ถ้าต้องสูบบุหรี่หลังอาหารก็ให้ลุกขึ้นหา อะไรทำทันทีที่ รับประทานอาหารอิ่ม

หรือ เบี่ยงเบนความสนใจเมื่อเกิดความอยากสูบบุหรี่ขึ้นมา เช่น อาบน้ำ หาอะไรทำ เล่นกีฬา เสริมสร้างกำลังใจ ในการเลิกสูบบุหรี่  เก็บเงินค่าบุหรี่ใส่กระปุกออมสินไว้ ให้รางวัลตัวเองถ้าเลิกสูบบุหรี่ได้ และ หาวิธีอื่นๆในการจัดการกับความเครียด

วิธีจัดการกับความเครียดนั้นมีมากมายหลายวิธี บางคนใช้วิธีดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา บางคนใช้วิธีปิดห้องแล้วตะโกนดังๆ หรือลองศึกษา สังเกตดูพฤติกรรมของพรรคพวกเพื่อนฝูงที่ไม่สูบบุหรี่ว่าเขาจัดการกับความเครียดอย่างไร ทดลองใช้วิธีจัดการกับความเครียดแบบต่างๆดู แล้วจดจำวิธีที่ท่านชอบเอาไว้ใช้ นอกจากนั้น ควรกำหนดวันที่จะหยุดสูบอย่างเด็ดขาด

เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวและ"ทำใจ" อาจจะกำหนดโดยใช้วันที่มีความหมายพิเศษบางอย่างเช่น วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน วันเกิดลูก หรืออาจกำหนดเป็นระยะเวลาเช่นอีก 3 วัน 7 วัน หรือ 10 วัน หรืออีก 2 สัปดาห์ก็ได้ หลังจากนั้นให้ใช้เวลาช่วงนี้ค่อยๆพยายามลดการสูบบุหรี่ลง โดยจำกัดจำนวนบุหรี่ที่จะสูบในแต่ละวันลงเรื่อยๆ สูบเพียงครึ่งมวนแล้วทิ้ง

กำหนดวันที่จะไม่สูบบุหรี่เลยทั้งวันจากสัปดาห์ละ 1 วัน แล้วค่อยๆเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2 วัน 3 วัน หรือค่อยๆเพิ่มเป็น 2 วันติดกัน 3 วันติดกัน ฯลฯ  ในระหว่างนี้ให้พยายามปฏิบัติตามวิธีที่กล่าวมาแล้วไปด้วยคือ  หลีกเลี่ยงสิ่งยั่วยุ เบี่ยงเบนความสนใจ เสริมสร้างกำลังใจ และเปลี่ยนวิธีจัดการกับความเครียด เมื่อถึงวันที่ท่านกำหนดว่าจะหยุดสูบบุหรี่ให้ทิ้งบุหรี่ที่เหลือและอุปกรณ์การสูบบุหรี่ให้หมดแล้วหยุดสูบบุหรี่ทันที แล้วปฏิบัติตามวิธีข้างต้นต่อไปจนสามารถหยุดสูบบุหรี่ได้เด็ดขาดและเกิดเป็น "นิสัย" หรือความคุ้นเคยอันใหม่ที่ไม่ต้องสูบบุหรี่

อ้างอิง: รพ.เปาโล  และ sites.google.com